Opinions

โอกาสไทยใน ‘สงครามการค้า’

Avatar photo
317

มาตรการกีดกันทางการค้าและการปกป้องอุตสาหกรรม โดยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ตามแผนที่จะลดการเสียดุลการค้ากับประเทศคู่ค้ากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวโลกรวมทั้งคนอเมริกันเอง

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการสำคัญในการแข่งขันและการค้าเสรี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกและทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น

การดำเนินมาตรการของทรัมป์ เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาพุ่งเป้าไปที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอันดับแรก ทำให้จีนต้องออกมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ในสินค้าต่างรายการกันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่ค้าอื่นๆ อย่างเช่น อินเดีย ญี่ปุ่นและอียู กำลังพิจารณาออกมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในขณะนี้

วันนี้ต้องถือว่า “สงครามการค้าขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์” ได้เกิดขึ้นแล้ว

000 1776Q4

แน่นอนว่า ความสับสนกับความไม่ชัดเจนได้เกิดขึ้นกับชาวโลก ว่าเหตุใดประธานาธิบดีทรัมป์ถึงนำนโยบาย “ตกยุค” และ “สวนกระแสโลก” กลับมาใช้อีก ทั้งที่ในอดีตเมื่อปี 1930 สหรัฐอเมริกาเคยนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

ขณะที่ผมกลับมองว่า ระดับทรัมป์น่าจะมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและเข้าใจกระแสเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่เป็นอย่างดี เพราะทรัมป์เองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จภายใต้กระแสการค้าเสรีแบบทุนนิยม หรือแม้กระทั่งการมองว่าเรื่องเสียดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำ

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์กำลังทำอยู่ น่าจะเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็น คือ “สร้างความนิยมทางการเมือง” เพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018 นี้ และ “รักษาและดำรงความเป็นผู้นำโลก”

อย่างที่ทรัมป์ประกาศไว้ว่า Make America Great Again การใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เป็นมาตรการประกาศศึกการค้าเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลักอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ทรัมป์ต้องการให้จีนปฏิบัติตามกฎของตลาด ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือเลิกพฤติกรรมอุดหนุนภาคเอกชนจีน แต่ทรัมป์มองว่าสุดท้ายจีนจะปฏิบัติตามเอง

เป้าหมายหลักของทรัมป์ที่แท้จริงคือ “การหยุดจีน” ที่กำลังไต่เพดานขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐอเมริกา

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวสูงสุดต่อเนื่องมาหลายปี ในไม่ช้าจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาและยังสร้างแสนยานุภาพทางการทหาร ขยายอาณาบริเวณไปยังทะเลจีนใต้ ขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก ผ่านโครงการ One belt one road (OBOR) และยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งมีแนวโน้มที่จีนจะขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกด้วย

มุมมองของทรัมป์ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะไม่ยอมให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียการเป็นผู้นำอย่างแน่นอน ทรัมป์จึงพร้อมทำทุกอย่าง แม้กระทั่งยอมออกมาตรการที่มีผลกระทบต่อประเทศมหามิตรอย่าง อียูและญี่ปุ่น

สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

หากเป็นตามที่วิเคราะห์ ก็น่าสรุปได้ว่า สงครามการค้าจะ“ยืดเยื้อ” อาจมีการเจรจาเดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้างกับคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา แต่เป้าหมายของทรัมป์ชัดเจนคือ ไม่ให้จีนโต

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นมหามิตรและเป็นคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกา ต้องประเมินสถานการณ์ให้ออกและจำเป็นต้องเร่งวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราจะทำการค้าระหว่างประเทศแบบเดิมๆ ด้วยการขอผ่อนผัน ยกเว้นภาษี ลดภาษี โดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ คงไม่ได้แล้ว

ไทยต้องเปิดเกมรุกมากกว่าตั้งรับ

รัฐบาลควรปรับยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศคู่ค้าใหม่ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อเศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์สงครามการค้า ที่วันนี้มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ยังไม่ได้มองเราเป็นศัตรูทางการค้า

เราควรเร่งดำเนินการเรื่องสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ถูกนำไปผลิตสินค้าในประเทศจีน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะสินค้าที่ไปจีน อีกทั้งต้องหาตลาดไหม่

ผมมองว่า โอกาสยังเป็นของไทย เรายังสามารถเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งรองรับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและจีนเพื่อส่งออก แต่ต้องไม่อยู่ในข่ายที่โดนกำแพงภาษีของประเทศคู่ค้า

สถานการณ์นี้ จะเป็นบทเรียนหนึ่งที่สำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว เพราะโลกยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน หากแผนระยะยาวของเราไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะให้รัฐบาลในอนาคตสามารถปรับตัวไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ ก็น่าห่วงว่า อาจก่อปัญหาในการบริหารเศรษฐกิจในอนาคตอย่างมาก

ที่มา: เฟซบุ๊ก Parnpree Bahiddha-nukara