Opinions

คาด ‘กนง.’ คงอัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดปีนี้ หันใช้มาตรการอื่น ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’

Avatar photo
673

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง “กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด” โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2563 จากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดขึ้น และอาจหันไปพึ่งมาตรการด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

GettyImages 1188495351

ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) และประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายมีลดลง กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 1.00% เป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

กนง. อาจประเมินว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะมีผลจำกัดในการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มหันมาออมเงินมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง

นอกจากนี้  ประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมต่อภาคเศรษฐกิจไทยอาจมีไม่สูงมากเท่าในอดีต เนื่องจาก ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อก็มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก

สุดท้ายนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ กนง. จะให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจรอประเมินผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างมาก ทั้งในรูปของ

  • การผ่อนคลายมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่ดำเนินการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลื่อนการบังคับใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (Debt Service Ratio: DSR)
  • มาตรการส่งเสริมและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs
  • มาตรการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ทั้งการปรับกฎเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้ และการโครงการ refinance ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารออมสิน
  • มาตรการที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา 2019-nCov ทั้งในรูปแบบของมาตรการด้านภาษี และการให้หยุดพักชำระหนี้ของธนาคารออมสิน

ด้วยมาตรการที่มีออกมาค่อนข้างมากนี้ อีไอซีจึงมองว่า กนง. อาจต้องการรอประเมินผลจากมาตรการเหล่านี้ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นนโยบายที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ยังมีโอกาส 30% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้น

www 1

อีไอซียังเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง กล่าวคือ หากการระบาดของไวรัสโคโรนายาวนานกว่าที่คาด และส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลก และไทย หรือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความล่าช้า และไม่สามารถออกมาได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ หรือผลกระทบจากภาวะภัยแล้งส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้

อีไอซีประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายนั้น ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2020 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.7% (เทียบกับ 2.1% ในกรณีฐาน) ซึ่งจะทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีสูงขึ้นมาก

ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง จากการสื่อสารของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กนง. หันมาให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ในด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น  ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง. ให้ความสำคัญต่อการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและภาคธุรกิจมากกว่า

อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินลง  จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป