Opinions

ก้าวรุก ‘โตชิบา’ สู่การพัฒนาภาคขนส่ง ‘ยั่งยืน’ ด้วย EV

Avatar photo
656

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicles) มีแนวโน้มการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคเอเชีย จากความตื่นตัวทางสังคมเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของสภาพอากาศ หรือการควบคุมและป้องกันมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และเพื่อสร้างระบบนิเวศรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า องค์กรภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์ ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ ตลอดจนผู้ใช้งานทั้งในส่วนบุคคลและในเชิงพาณิชย์ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาคการขนส่งในอนาคต

Toshiba New Battery 128129

ประเทศไทยนับเป็นตลาดที่น่าจับตามองมากอีกแห่งหนึ่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้รับฉายาว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเองก็มีการปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของ EV

แม้ว่าในขณะนี้ EV จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 2% ในไทย แต่ภาครัฐก็ได้ออกนโยบายสนับสนุน โดยเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์และทักษะขั้นสูง จึงทำให้การจัดหาชิ้นส่วนและองค์ประกอบในการผลิตจากในประเทศเป็นเรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่จะเติบโตในฐานะแหล่งผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจและน่าจับตามอง

ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ก็เริ่มมีการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการใช้งาน EV เช่นกัน ทั้งในส่วนของผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ใช้รถ และผู้ให้บริการเรียกรถ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ และการจัดการพลังงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อภาพการเปลี่ยนแปลงของภาคการขนส่งในอนาคต โดยองค์ประกอบพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของ EV ที่จะทำหน้าที่ควบคุมและแปลงพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จซ้ำได้ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือ อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำกำลัง

ความก้าวหน้าในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จซ้ำได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลายเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด รถปลั๊ก-อินไฮบริด หรือรถเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นยานพาหนะที่สร้างผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อยลงเมื่อเทียบกับรถที่ใช้พลังงานฟอสซิล

toshiba promo

โตชิบาได้วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้มาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ SCiB ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จซ้ำได้ โดยใช้ลิเทียมไทเทเนียมออกไซด์ (LTO) เป็นวัสดุหลักในขั้วไฟฟ้าแอโนด ทำให้ SCiB เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ ทั้งการใช้งานที่มีความปลอดภัยสูง อายุการใช้งานที่ยืนยาว และยังสามารถชาร์จไฟได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว จากการใช้งานในเครื่องยนต์หลากหลายชนิด เช่น รถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ฯลฯ มาตั้งแต่ปี 2551

ปัจจุบัน โตชิบาอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จซ้ำได้รุ่นใหม่ ซึ่งใช้ไทเทเนียมไนโอเบียมออกไซด์เป็นวัสดุหลักในขั้วไฟฟ้าแอโนด และจากการทำงานที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงความสามารถของไทเทเนียมไนโอเบียมออกไซด์ ที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูง และอัดประจุซ้ำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ เพื่อตอบรับความต้องการของตลาด โตชิบาได้ลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้น และสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ SCiB แห่งใหม่ ณ เมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นกำลังเสริมในการผลิตให้กับโรงงานที่เมืองคาชิวาซากิ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ โตชิบายังได้ร่วมมือกับบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น เพื่อสร้างโรงงานในประเทศอินเดียอีกด้วย

แม้แบตเตอรี่จะเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับ “ยานยนต์แห่งอนาคต” แต่องค์ประกอบอื่นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ เพาเวอร์ ดีไวซ์ หรืออุปกรณ์กำลัง ที่ทำหน้าที่ลดการสูญเสียพลังงานในระหว่างการใช้งาน ทำให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ Image Recognition Processor หน่วยประมวลผลภาพที่จะทำหน้าที่จดจำและวิเคราะห์สภาพถนน ซึ่งช่วยให้ทั้งผู้ใช้รถและคนเดินถนนมีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

EV Charging

โตชิบาได้พัฒนาหน่วยประมวลผลภาพตระกูล Visconti ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถรับรู้สภาพรอบตัวรถได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน โดยมันจะสามารถประมวลผลภาพได้ทั้งการเคลื่อนที่ของรถยนต์ สภาพการจราจร คนเดินถนน รถจักรยานยนต์ สัญญาณจราจร ตลอดจนอันตรายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณรอบตัวรถ ด้วยข้อมูลที่ส่งจากกล้อง 1-4 ตัว ที่ติดตั้งโดยรอบ  จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเพื่อผู้ขับขี่รถยนต์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างครอบคลุมและชาญฉลาด

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องฝ่าฟันกว่าที่ EV จะได้รับการยอมรับและถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย หนึ่งในนั้นคือการผลักดันด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV เพราะความแข็งแกร่งของโครงข่ายสถานีชาร์จไฟมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งส่งผลโดยตรงถึงการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า

ในภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลบางประเทศได้เริ่มออกนโยบายและข้อกำหนดเพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV ใน วงกว้าง เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ผู้แทนจัดจำหน่ายไฟฟ้าและก๊าซของรัฐกำลังดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV ทั่วทั้งเกาะ หรือในประเทศมาเลเซีย ที่องค์กรด้านพลังงานของญี่ปุ่นอย่าง New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ได้ไว้วางใจให้โตชิบาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ร่วมดำเนินการสาธิตระบบรถประจำทางไฟฟ้าที่สามารถชาร์จไฟได้รวดเร็ว โดยโครงการนี้มีจุดประสงค์หลักในการกระตุ้นสังคมให้หันมาสนใจระบบขนส่งมวลชนภายในตัวเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่สร้างมลพิษน้อยลง

ในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์จะถูกขับเคลื่อนด้วย “CASE” ซึ่งย่อมาจาก Connectivity การเชื่อมต่อ, Autonomous การขับขี่ด้วยตนเอง, Shared การแบ่งปัน และ Electrification ระบบไฟฟ้า โตชิบาจึงพยายามรวบรวมความรู้ความเชี่ยวชาญที่บริษัทสั่งสมมาเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีและบริการสำหรับทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศของ EV ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมต่อในระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับควบคุมการจราจร ระบบนำทางที่ใช้อุปกรณ์กำลังในการทำงาน และเซ็นเซอร์ที่รองรับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการขับขี่บนท้องถนน

ก้าวต่อไปของโตชิบา สู่การพัฒนาภาคการขนส่ง

แต่ขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงภาคประชาชนเอง ก็ต้องเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ใช่เพียงวิวัฒนาการของการขับขี่ส่วนบุคคล แต่ยังเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

 

โดย นายริวจิ มารุยาม่า ผู้แทนองค์กรประจำภูมิภาคเอเชีย โตชิบา คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการ โตชิบา เอเชีย แปซิฟิค พีทีอี แอลทีดี