Opinions

เมื่อนโยบายการเงินโลกกลับทิศ สภาพคล่องโลกจะเป็นอย่างไร

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
1330

ตั้งแต่ต้นปี 2562 มานี้ เราเริ่มเห็นทิศทางนโยบายการเงินโลกกลับทิศชัดขึ้น เมื่อธนาคารกลางส่วนใหญ่พากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ท่าทีของการดำเนินนโยบายการเงินโลกในปีนี้ดูผ่อนคลายขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์โลกดูไม่ค่อยดีจากการผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายคู่กรณีมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศได้ จึงน่าคิดว่าการเปลี่ยนท่าทีของนโยบายการเงินโลก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างทันควันแบบนี้ จะมีผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอย่างไร และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง?

หากย้อนไปในช่วงปี 2561 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองกันว่า ทิศทางนโยบายการเงินโลกจะปรับเข้มงวดขึ้นเต็มรูปแบบหลังจากที่ผ่อนคลายมานานนับสิบปี เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็งจากผลของวิกฤตการเงินโลกปี 2551 Fed ได้ดำเนินการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ (normalization) มาเป็นระยะหลังส่งสัญญาณมาก่อนแล้วว่า (1) จะปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้นจากที่อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นพิเศษ (ultra-low interest rate) ใกล้ 0% และ (2) จะทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่เรียกว่า Quantitative Easing (QE) unwind โดยลดขนาดงบดุลลง

หากเราจำกันได้ ธนาคารกลางหลักๆ 3 แห่งในโลก ได้แก่ Fed ECB และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้มาตรการพิเศษนี้ พิมพ์เงินเพิ่มเพื่อไปซื้อตราสารทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ ช่วยปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกทาง จนทำให้งบดุลธนาคารกลางเหล่านี้ใหญ่ขึ้นมาก การเข้าซื้อตราสารทางการเงินของธนาคารกลางเช่นนี้ช่วยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับลดลง ต้นทุนการกู้ยืมจึงถูกลง สภาพคล่องโลกจึงสูงขึ้นมากเกือบ 4 เท่าภายในสิบปีนี้

shutterstock 181884788

 Fed ได้ส่งสัญญาณ normalization ล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 โดยกำหนดแนวทางการหยุดเข้าซื้อตราสารทางการเงินเพิ่มจากธนาคารพาณิชย์ และลดการต่ออายุตราสารที่ครบกำหนดในแต่ละเดือน (reinvestment) ทุกๆ ไตรมาสเพิ่มจาก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสูงสุด 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ขนาดงบดุลของ Fed ค่อยๆ เล็กลง

ต่อมาในปี 2558 Fed ก็เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องจาก 0-0.25% และมาอยู่ที่ 2-2.25% เมื่อสิ้นปี 2561 พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อให้กลับสู่ระดับปกติ กระบวนการ normalizationงบดุลของ Fed เช่นนี้ทำให้ต้นทุนการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐแพงขึ้น และสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐในโลกลดลง ส่งผลให้สภาพคล่องโลกโตช้าลง หรืออาจหดตัวได้ในกรณีที่ ECB หรือ BOJ เริ่มทำ QE unwind ด้วย

 สภาพคล่องโลก (global liquidity) ที่กล่าวถึงนี้ คือ ภาวะความผ่อนคลายของการระดมทุนในตลาดการเงินโลกสามารถวัดได้หลายแบบ เช่น (1) ปริมาณเงินรวม (monetary liquidity) ที่สะท้อนภาพรวมทิศทางนโยบายการเงินโลก (2) สินเชื่อรวม (credit liquidity) ที่สะท้อนปริมาณเงินกู้ยืมของภาคเอกชน ทั้งจากแหล่งในและต่างประเทศ ทั้งในรูปสินเชื่อและการออกพันธบัตร และ (3) สภาพคล่องตลาด (market liquidity) ที่สะท้อนต้นทุนในการระดมทุนจากตลาดการเงินโลก เช่น ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังของสหรัฐอายุ 3 เดือนกับดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือน (TED spread)

 ตัวอย่างเครื่องชี้สภาพคล่องโลกในแบบที่ 2 ที่จัดทำโดย Bank of International Settlement และเผยแพร่เป็นรายไตรมาส ข้อมูลล่าสุดพบว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ สภาพคล่องโลกปรับดีขึ้นมาเป็นร้อยละ 40.6 ของ GDP โลก จากที่ตึงตัวขึ้นในช่วงสิ้นปี 2561 เหลือร้อยละ 39.6 ของ GDP โลก คิดเป็นขยายตัวร้อยละ 3 จาก ช่วงเดียวกันปีก่อนเทียบกับร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยเฉพาะสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ Fed ออกมาสื่อสารเชิงผ่อนคลายมากขึ้นว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ ECB ส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนานขึ้นและชะลอการเริ่มทำ QE unwind ออกไป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเช่นเดิม มองดูแล้วสภาพคล่องโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะปรับดีขึ้นอีก โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และมีแววว่าธนาคารกลางหลัก
จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มหรือประกาศทำ QE ในขนาดที่มากขึ้น หากผลกระทบจากสถานการณ์โลกรุนแรงขึ้น

 แล้วผลกระทบของสภาพคล่องโลกที่ผ่อนคลายขึ้นต่อประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? โดยปกติแล้ว สภาพคล่องที่เกินความต้องการลงทุนในประเทศหนึ่งๆ มักจะไหลไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (EMs) ที่อาจได้ประโยชน์เพราะมีเงินทุนต้นทุนต่ำที่เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและมีการส่งผ่านเข้ามาทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินในประเทศลดต่ำลงตาม

แต่ที่ต้องระวัง คือ ภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นอาจสะสมความเปราะบางไว้ในระบบการเงินของประเทศได้ ซึ่งอาจเห็นดูได้จากราคาสินทรัพย์ในประเทศที่สูงขึ้นจากความต้องการซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นของเงินทุนต่างชาติ หรือจากการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งผลจากภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายอย่างยาวนานในช่วงก่อนหน้า ก็มีส่วน
ทำให้หนี้ภาคเอกชนในกลุ่มประเทศ EMs สูงขึ้นมากหลายเท่าตัวทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

 เนื่องจากประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศปลายทาง ของสภาพคล่องโลก เราจึงควรเตรียมรับมือกับคลื่นสภาพคล่องโลกระลอกใหม่อย่างมีภูมิคุ้มกัน หากวันใดที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนฉับพลัน จนอาจทำให้สภาพคล่องโลกตึงตัวขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากการที่นโยบายการเงินโลกเปลี่ยนทิศอีกรอบ หรือภาวะที่นักลงทุนกลัวความเสี่ยงจนเร่งถอนการลงทุนจากกลุ่มประเทศ EMs เป็นจำนวนมากๆ อาจส่งผลกระทบมาถึงภาวะการเงินในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะในยุคที่โลกผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และครุมเครือ (Volatile, Uncertain, Complex, Ambiguous: VUCA) มากเช่นนี้ อะไรๆ ที่ไม่น่าเกิดก็อาจเกิดขึ้นได้

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขอบคุณบทความ

ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย