ความขัดแย้งระหว่าง “ประยุทธ” กับ เนสท์เล่ จะจบลงอย่างไร แล้วความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของคนไทย และผู้บริโภค รวมทั้งเศรษฐกิจไทยโดยรวม อีกทั้งจะกระทบต่อความเชื่อมั่น การเข้ามาลงทุนทําธุรกิจในไทยมากน้อยเพียงใดยังคงเป็นเรื่องใหญ่ หรือ “ปิดตํานาน เจ้าพ่อเนสกาแฟ”
เมื่อพูดถึงแบรนด์กาแฟสําเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาด ตั้งแต่ห้างซุปเปอร์มาเก็ตยักษ์ใหญ่ ลงมาจนถึงร้านรถเข็น ขายเครื่องดื่มกาแฟ คอกาแฟ หลายคนคงไม่มีใครไม่รู้จัก “เนสกาแฟ” แบรนด์กาแฟที่มี ยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในไทยมาอย่างช้านาน และเมื่อพูดถึง “เนสกาแฟ” เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นชื่อ “ประยุทธ มหากิจศิริ” ที่ได้รับฉายา “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” เป็นอย่างดี
แม้ว่า ประยุทธ จะได้รับฉายา “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” และรํ่ารวยขึ้นมาจากการผลิตกาแฟสําเร็จรูปและกาแฟ พร้อมดื่มภายใต้ชื่อ “เนสกาแฟ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาไม่ได้เป็นเจ้าของ แบรนด์เนสกาแฟอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ยิ่งไปกว่านั้น ประยุทธ ไม่ได้เป็นแม้แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ด้วยซํ้า
มาถึงตอนนี้ คงเริ่มมีคําถามขึ้นมาในใจแล้วว่า ประยุทธ ได้ฉายา “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” มาได้ยังไง ธุรกิจหลายอย่างที่ ประยุทธ เป็นเจ้าของหรือเข้าไปถือหุ้นอยู่ ส่วนใหญ่ขาดทุน และบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ดินและสนามกอล์ฟ ก็มีปัญหา
ประยุทธ มีความสนใจในธุรกิจกาแฟ จึงได้ร่วมทุนกับเพื่อน ๆ ตั้งบริษัทผลิตกาแฟขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว แต่ด้วยความที่ยังไม่มีความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิตกาแฟ สําเร็จรูป ในเวลานั้น เป็นเรื่องใหม่มากสําหรับไทย ประยุทธ จึงได้ชักชวนให้ เนสท์เล่ เข้ามาถือหุ้นในบริษัท โดยขอให้เนสท์เล่ นําความรู้และเทคโนโลยี เข้ามาช่วยผลิตกาแฟ เมื่อธุรกิจภายใต้ความร่วมมือกับเนสท์เล่ เริ่มไปด้วยดี และโรงงานเริ่มผลิตสินค้าเต็มกําลังการผลิตแล้ว ประยุทธ จึงได้ตั้ง บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จํากัด หรือ คิวซีพี ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งเมื่อปี 2532 เพื่อเพิ่มกําลังการผลิต และขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
ส่วน เนสกาแฟ เป็นแบรนด์กาแฟ ที่มี บริษัท เนสท์เล่ เอส เอ สัญชาติสวิส เป็นเจ้าของ ซึ่ง เนสท์เล่ เอส เอ ได้เริ่มทําธุรกิจกาแฟในสวิส มาตั้งแต่ปี 2481 ตามคําร้องขอของรัฐบาลบราซิล ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในบราซิล มีปัญหาเมล็ดกาแฟล้นตลาด ใช้เวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น เนสกาแฟ ก็ขยายตลาดออกไปยังยุโรป อเมริกา และประเทศต่าง ๆ จนเป็นแบรนด์กาแฟยอดนิยม
ย้อนอดีตหวาน: ชวนเนสท์เล่ ถือคนละครึ่งในคิวซีพี
สําหรับการทําธุรกิจกาแฟในประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ เอส เอ ได้นําเข้าสินค้าเนสกาแฟ มาจําหน่าย ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี 2516 เมื่อได้รับการชักจูงจาก ประยุทธ ให้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเพื่อผลิตเนสกาแฟในไทย ก็ได้ตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นตามเชิญชวน จน เนสท์เล่ เอส เอ ถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 50 หลังจากที่ บริษัท คิวซีพี ได้บีโอไอแล้ว ประยุทธ ได้ชวนให้ เนสท์เล่ เข้ามาถือหุ้นใน คิวซีพี คนละครึ่ง ในบริษัท คิวซีพี นี้ ประยุทธ ได้ตัดสินใจถือหุ้นฝ่ายไทยเองทั้งหมด โดยไม่มีเพื่อน ๆ ที่ร่วมลงทุนก่อนหน้านี้อยู่ด้วย
สัญญาร่วมทุนระหว่าง ประยุทธ และเนสท์เล่ ในบริษัท คิวซีพี เริ่มต้นขึ้นในปี 2533 โดยตกลงให้แต่ละฝ่ายถือหุ้นกันคนละ 50% เพื่อผลิตกาแฟสําเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “เนสกาแฟ” หรือ แบรนด์ของเนสท์เล่ และต้องขายสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ให้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) เท่านั้น เพื่อนําไปขายในท้องตลาด สูตรการผลิต เทคโนโลยี เครื่องจักร และซอฟแวร์ที่ใช้ในการผลิตกาแฟสําเร็จของบริษัท คิวซีพี นั้นเป็นของเนสท์เล่ ทั้งหมด
แม้กระทั่งการลงไปช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการพัฒนาพันธุ์กาแฟโรบัสต้า ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ของตลาดโลกได้ ก็เป็นองค์ความรู้ที่เนสท์เล่ นํามาให้และทํางานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย และให้ บริษัท คิวซีพี เป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟดังกล่าวมาผลิตเนสกาแฟ ที่สําคัญ อํานาจในการควบคุมกระบวนการผลิต และบริหารโรงงานผลิตกาแฟของคิวซีพีนั้น อยู่ภายใต้อํานาจการตัดสินใจของเนสท์เล่ตามสัญญา
เป็นได้แค่ประธานไม่มีอำนาจบริหาร
ส่วน ประยุทธ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบริษัท คิวซีพี และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทนประจําปีกรรมการ รวมทั้งได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 1 จากยอดขายเนสกาแฟ ของบริษัท คิวซีพี ทุกปี รวมทั้งได้รับเงินปันผลจากกําไรของคิวซีพี อีกต่อหนึ่ง
แม้ว่า ประยุทธ จะเป็นประธานคิวซีพี และเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการคิวซีพี เสียงข้างมากอีก 4 คน (เนสท์เล่แต่งตั้งกรรมการอีก 3 คน รวมเป็น 7 คน) แม้จะเป็นประธานและเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการเสียงข้างมากของคิวซีพี แต่ก็ไม่มีอํานาจเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการผลิตและการบริหารคิวซีพี ซึ่งเป็นอํานาจของกรรมการผู้จัดการที่ฝ่ายเนสท์เล่ เป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้งตามสัญญาร่วมทุน
สุดทึ่ง! ฉายา “เจ้าพ่อเนสกาแฟ”
ประยุทธ ในฐานะประธานคิวซีพี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกาแฟสําเร็จรูปของเนสกาแฟ เป็นเพียงผู้ติดต่อ ประสานงานกับภาครัฐ และการออกงานสังคมและงานอีเวนต์ต่าง ๆ ของคิวซีพี และให้คําปรึกษาแนะนํา จุดนี้เองทําให้ผู้คนรู้จักในฐานะประธาน ของโรงงานผลิตเนสกาแฟ และเห็นยืนคู่กับผลิตภัณฑ์ของเนสกาแฟในงานอีเวนต์ คงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า ฉายา“เจ้าพ่อเนสกาแฟ” นั้น ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสําเร็จอย่างงดงานในธุรกิจกาแฟสําเร็จรูปในสังคมไทย
ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้ลงมาทําธุรกิจผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ เนสกาแฟ ไม่มีองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตกาแฟ และไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิในการขายเนสกาแฟ ผลประโยชน์ของ ประยุทธ อยู่ที่การที่ตัวเองและครอบครัวได้เป็นผู้ถือหุ้น ครึ่งหนึ่งของบริษัทผลิตเนสกาแฟในไทย และได้ค่าตอบแทนจากการเป็น ประธานและผู้ถือหุ้นปีละกว่า 2,000 ล้านบาท
แต่ในช่วงที่ ประยุทธ มีปัญหาถูกบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ฟ้องร้อง ดําเนินคดีเป็นจําเลยที่ 2 ประยุทธ ก็โอนหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ในบริษัท คิวซีพี ไปให้ เฉลิมชัย มหากิจศิริ ลูกชาย จนทําให้ลูกชาย กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในคิวซีพี ส่วน ประยุทธ มีสัดส่วนการถือหุ้นในคิวซีพีเหลือ 3% แต่ก็ยังคงเป็นประธานคิวซีพี ยังเป็นที่รู้จักในฉายา“เจ้าพ่อเนสกาแฟ”
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา!
แต่แน่นอนที่สุด งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา สัญญาย่อมมีวันสิ้นสุด เนสท์เล่ ได้ตกลงที่จะให้ค่าเหนื่อยกับ ประยุทธ จากการเป็นประธานคิวซีพี มีกําหนด 22 ปี ตั้งแต่วันทําสัญญาร่วมทุนเมื่อปี 2533 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่เมื่อครบกําหนดตามสัญญาร่วมทุนฉบับแรก ประยุทธ ได้ทวงบุญคุณที่ตนได้เชิญชวนให้เนสท์เล่ เข้ามาร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตกาแฟสําเร็จในไทยได้สําเร็จ จนทําให้ยอดขายของเนสกาแฟ ในไทยเพิ่มขึ้นและเป็นแบรนด์กาแฟอันดับหนึ่ง และร้องขอค่าเหนื่อยต่ออีก 12 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แม้ ประยุทธ จะมีโชคได้เงินจํานวนมหาศาล จากการชวนเนสท์เล่ มาลงทุนตั้งโรงงานเนสกาแฟ แต่เพราะวิบากกรรม หรือโชคชะตากลับเล่นตลกกับ ประยุทธ ไม่น้อย ในช่วงเวลาตามสัญญาร่วมทุนฉบับแรก
มรสุม “การเมือง-คดีความ” เล่นงานหนัก
ประยุทธ เริ่มเผชิญมรสุมทางการเมือง โดยถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่าจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จในการเข้า ดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2540 จากการปกปิดไม่แจ้งบัญชีเงินฝากและที่ดินของตนเอง คู่สมรส และบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จนนําไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนุญ ได้มีคําวินิจฉัยที่ 19/2544 วินิจฉัยว่า “นายประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ถูกร้อง จงใจยื่นบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ” และถูกศาลสั่งห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 นับเป็นตราบาปแรกในชีวิตของ ประยุทธ ที่ถูกศาลตัดสินด้วยพฤติกรรม “ซุกเงินฝากและที่ดิน” ที่มีลักษณะความผิดเข้าข่าย เป็นคดีทุจริต
ต่อมาในปี 2550 ประยุทธ ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี อีกเป็นครั้งที่ 2 จากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ประยุทธ ได้ถูกตีตราบาปอีกครั้ง จากศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบภาค 8 ที่ได้พิพากษาว่า ประยุทธ เป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทําความผิดในการนํา เอกสารสิทธิน.ส.3 ก ในเขตปฏิรูปที่ดินและในเขตป่าไม้ถาวร ที่อําเภอเมืองกระบี่ มาขอออกเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของ ประยุทธ ตามที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง และศาลได้สั่งลงโทษจําคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญาและให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งฉบับ
วิบากกรรมของ ประยุทธ ไม่หมดเพียงเท่านั้น นอกจากคดีออกเอกสารสิทธิ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ จังหวัดกระบี่ แล้ว
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ป.ป.ช. ยังได้ชี้มูลกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก และโฉนดที่ดิน สนามกอล์ฟ เมาน์เท่น ครีก ในอําเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มาทําการรังวัดแบ่งแยกและรวมโฉนด ทําให้มีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 189 ไร่ จากที่ดินของสนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นของบริษัท ไทยน๊อกซ์ สแตนเลส จํากัด ที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,304 ไร่ ซึ่ง ประยุทธ เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหาร
แม้ว่า ประยุทธ จะได้ออกแถลงการณ์ว่าตัวเองและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต และได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมถึง ป.ป.ช. แต่ผลปรากฏว่า ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้อง ประยุทธ และเจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตเอง แม้ว่าอัยการสูงสุดจะมีคําสั่งไม่ฟ้องก็ตาม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ประยุทธ ในการทํารังวัดนําที่ดินนอกหลักฐาน เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. มารวมขอออก โฉนดที่ดินที่ขอทําการรังวัดสอบเขตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินแปลงนี้มีสภาพป่าไม้และแหล่งนํ้าอุดมสมบูรณ์ ที่สําคัญ อยู่ติดกับสนามกอล์ฟเมาน์เท่น ครีก ในคดีนี้ นอกจาก ประยุทธ แล้ว ยังมีลูกสาว ติดร่างแหถูกชี้มูลด้วย
ทั้งนี้ ประยุทธ มอบหมายให้ทนายความออกมาชี้แจงว่า การถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ไม่ได้ถูกชี้มูลในนามส่วนตัว เพราะเป็นที่ดินที่บริษัท ไทยน็อก สแตนเลสฯ ซื้อต่อมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนการออกโฉนดโดยมิชอบนั้น เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่เกี่ยวข้องกับ ประยุทธ และครอบครัว ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณของ สํานักงานอัยการสูงสุดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
เริ่มทวงบุญคุณแลกต่อสัญญา
ย้อนกลับมาในธุรกิจโรงงานเนสกาแฟ ที่ได้เล่าไว้ในตอนต้นแล้วว่า ประยุทธ ได้ทวงบุญคุณที่ช่วยให้เนสกาแฟ ตั้งโรงงานผลิตกาแฟสําเร็จรูปในไทย และได้รับบีโอไอสําเร็จ จึงขอให้เนสท์เล่ ต่อสัญญาร่วมทุนเพื่อจ่ายค่าตอบแทนหลักพันล้านบาทต่อปี ให้ประยุทธ ออกไปอีก 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 ปี จนถึงสิ้นปี 2567 ได้สําเร็จ แต่ในช่วงสัญญาร่วมทุนระยะที่สองนี้ ดูหนทางจะไม่ราบรื่น เนื่องจากทาง เนสท์เล่ เอส เอ มีการเปลี่ยนผู้บริหาร และโครงสร้างองค์กรใหม่ เห็นว่าการจ่ายตอบแทนหนี้บุญคุณให้ ประยุทธ เป็นเวลา 34 ปี มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทนั้น น่าจะมากเพียงพอกับความช่วยเหลือ ที่ได้รับในช่วงเริ่มต้นของการตั้งโรงงานแล้ว อีกทั้งช่วงเวลา 12 ปี ภายใต้สัญญาร่วมทุนฉบับที่ 2 ทางเนสท์เล่ ก็ไม่ได้ขอให้ ประยุทธ ช่วยเหลือใด ๆ เกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยอีก
ดังนั้น เนสท์เล่ จึงได้เริ่มเปิดเวทีเจรจากับ ประยุทธ มาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณ ว่าเนสท์เล่ จะไม่ต่อสัญญาร่วมทุนออกไปอีกแล้ว แต่เพื่อเห็นแก่มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เนสท์เล่ จึงต้องการจากกันด้วยดี หาก ประยุทธ ต้องการขายหุ้น ได้รับค่าตอบแทนจากการเลิกสัญญา หรือ ต้องการความช่วยเหลือใด ๆ จากเนสท์เล่ ก็ขอให้เจรจาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและรับกันได้ทั้งสองฝ่าย
บอกเลิกสัญญาร่วมทุน จุดเริ่มต้นยื่นฟ้องเนสท์เล่
เมื่อ ประยุทธ ได้รับสัญญาณการบอกเลิกสัญญาร่วมทุนที่ชัดเจน และไม่ได้ค่าเลิกสัญญาตามที่คาดหวัง ประยุทธ จึงยื่นฟ้องเนสท์เล่ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อช่วงปลายปี 2566 กล่าวหาว่า เนสท์เล่ทําผิดสัญญา กรณีเรียกเก็บค่าตอบแทนเกินจริง กว่า 3,000 ล้านบาท เริ่มมีข่าวปรากฎตามสื่อ ในทํานองตั้งข้อสงสัย ถึงจริยธรรมและความโปร่งใสในการทําธุรกิจของเนสท์เล่ เป็นบริษัทข้ามชาติยักย์ใหญ่ และสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมเป็นกังวล ถึงบทบาทของบริษัทข้ามชาติ ที่จะเข้ามาเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนไทย และฆ่าธุรกิจของคนไทยไม่ให้เติบโต และแข่งขันได้กับบริษัทข้ามชาติ อีกทั้งยังมีการเปิดประเด็น เกี่ยวกับมิตรแท้ที่ไว้วางใจมากที่สุด ก็ยังสามารถตระบัดสัตย์หักหลังได้ ถ้าจริยธรรมถูกละเลย หลังจากนั้นไม่นานนัก ประยุทธ ก็ถอนคําฟ้องออกไปด้วยตัวเอง เพื่อขอคืนหลักประกันที่ต้องนําไปวางต่อศาล
ไม่ว่า ประยุทธ จะพยายามใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางทั้งทางกฎหมาย ยื่นข้อเสนอแบบสุดโต่งที่อีกฝ่ายไม่สามารถยอมรับได้ ในที่สุด เนสท์เล่ ก็ได้บอกเลิกสัญญาร่วมทุนกับ ประยุทธ เมื่อปลายปี 2565 เป็นไปตาม เงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนที่ต้องแจ้งบอกเลิกสัญญา ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับรู้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี และยังคงเดินหน้าขอเจรจากับ ประยุทธ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือให้บริษัท คิวซีพี สามารถเดินหน้าผลิตกาแฟ ในแบรนด์ของตัวเองต่อไปได้ ภายหลังจากที่เนสท์เล่ ถอนตัวออกไป หรือหาก ประยุทธ ไม่ต้องการเดินหน้าธุรกิจกาแฟภายใต้ แบรนด์คิวซีพี หาก ประยุทธ จะไม่เดินหน้าบริษัท คิวซีพี ต่อไป ทางเนสท์เล่ ก็พร้อมจะซื้อหุ้นคืนหรือให้เงินชดเชยสมเหตุสมผล
อนุญาโตฯมีคำสั่งชี้ขาดบอกเลิกสัญญาร่วมทุนถูกต้อง
เมื่อ ประยุทธ ต้องตัดสินใจยึดคิวซีพี เป็นฐานที่มั่นในการสร้างรายได้ให้กับตัวเอง การเจรจาเพื่อหาทางจากกันด้วยดีจึงไม่อาจบรรลุผลได้ จนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 การบอกเลิกสัญญาร่วมทุนของเนสท์เล่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ว่า ประยุทธ จะพยายามโต้แย้ง แต่ในที่สุด อนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศ ก็ได้มีคําชี้ขาด ที่ประเทศอังกฤษภายใต้ข้อตกลงในสัญญาร่วมทุน ว่าฝ่ายเนสท์เล่ได้ทําตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาร่วมทุนถูกต้องครบถ้วนแล้ว และการบอกเลิกสัญญาร่วมทุนของเนสท์เล่ ได้ทําโดยถูกต้อง ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาของเนสท์เล่ จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ว่า ประยุทธ จะต่อสู้คัดค้านและได้ยื่นฟ้องกลับเนสท์เล่ต่ออนุญาโตตุลาการ แต่คําฟ้องของ ประยุทธ ก็ถูกตีตกในทุกประเด็น
แม้จะพ่ายแพ้ในเวทีอนุญาโตตุลาการที่อังกฤษ แต่เจ้าพ่อเนสกาแฟ ยังไม่ยอมแพ้ และกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ประยุทธและลูกชาย ยื่นฟ้องกรรมการของเนสท์เล่ เอส เอ และกรรมการบริษัท คิวซีพี ฝ่ายเนสท์เล่ ต่อศาลแพ่งมีนบุรี เมื่อมีนาคม 2568 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเนสท์เล่ ขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้ระงับการใช้ข้อบังคับของบริษัท คิวซีพี เรื่องการออกเสียงลงมติที่ต้องอาศัยเสียง 5 เสียง ในการลงมติ เพราะต้องการให้มีกรรมการฝ่ายเนสท์เล่ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 เสียง เป็นการชั่วคราว โดยให้ใช้การลงมติด้วยเสียงข้างมากตามปกติแทน ศาลก็ได้มีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ร้องขอ ทําให้ ประยุทธ สามารถเข้าควบคุมกิจการของคิวซีพีได้ทั้งหมด เพราะตามสัญญาร่วมทุนนั้นได้กําหนดให้ ประยุทธ แต่งตั้งกรรมการได้ 4 คน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวมหากิจศิริ และฝ่ายเนสท์เล่ แต่งตั้งกรรมการได้ 3 คน
ใช้เงิน คิวซีพี จ่ายค่าดําเนินคดีในชั้นอนุญาโตฯ
เมื่อได้คําสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาล ประยุทธ ได้เรียกประชุมกรรมการบริษัท คิวซีพี ทันที เสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา เห็นชอบการนําเงินบริษัท คิวซีพี มาจ่ายให้เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการที่อังกฤษ ที่ต้องควัก กระเป๋าตัวเองจ่ายไปกว่า 400 ล้านบาท
แม้ว่า ประยุทธ จะสามารถควบคุมการมีมติของคณะกรรมการในคิวซีพีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ดูเหมือน ประยุทธ ยังไม่พอใจ เพราะบริษัท คิวซีพี ที่ไม่มีเทคโนโลยี เครื่องจักร และซอฟแวร์ในการผลิตกาแฟของเนสท์เล่นั้น ก็เหมือนได้มาแค่ตัวโรงงาน ที่ไม่สามารถผลิตกาแฟเพื่อสร้างความมั่งคั่งรํ่ารวยได้ ดังนั้น ประยุทธ จึงได้ยื่นฟ้องบริษัท เนสท์เล่ เอส เอ และบริษัทลูกของเนสท์เล่ในไทย ต่อศาลแพ่งมีนบุรี อีกคดีหนึ่ง
โดยกล่าวหาว่า บริษัท เนสท์เล่ และบริษัทลูกในไทย สมรู้ร่วมคิดกันวางแผนทําลายธุรกิจผลิตกาแฟของประยุทธ ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทย สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยที่สามารถผลิตกาแฟระดับโลกได้ และเนสท์เล่ ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือใด ๆ ที่จะทําให้คิวซีพี สามารถผลิตกาแฟในแบรนด์ของตนเองต่อไปได้ ทําให้ได้รับความเสียหาย และ ร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งห้ามบริษัท เนสท์เล่ และบริษัทลูกในไทย 3 รวมทั้งตัวแทนของบริษัทฯ ผลิต ว่าจ้างผลิต นําเข้า และจําหน่ายกาแฟสําเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย จนกว่าคิวซีพี จะสามารถผลิตกาแฟสําเร็จรูปได้ดังเช่นที่มีผลประกอบการ
ก่อนวันสิ้นสุดสัญญาร่วมทุน สั่งให้เนสท์เล่ต้องติดตั้งระบบไอทีและซอฟต์แวร์ ที่จําเป็นสําหรับการผลิต กาแฟของ คิวซีพี เพื่อให้ คิวซีพี สามารถดําเนินกิจการได้ ดังเช่นที่ได้ดําเนินการตลอดมาก่อนวันสิ้นสุดสัญญาร่วมทุน ศาลได้มีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ ประยุทธ สุวิมล (ภรรยาประยุทธ) และเฉลิมชัย ร้องขอ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2568 เพราะเห็นว่า คิวซีพี ต้องหยุดกระบวนการผลิตกาแฟสําเร็จรูปทั้งหมด ตามที่อ้างไว้ในคําฟ้อง ทําให้เกิดความเสียหายกับ เฉลิมชัย และประยุทธ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในคิวซีพี
ดูเหมือน ประยุทธ สร้างอํานาจต่อรองได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะสามารถทําให้ เนสท์เล่ ต้องหยุดทําธุรกิจผลิต และจําหน่ายผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทั้งหมดในประเทศไทยสําเร็จ อย่างน้อยก็จนกว่าศาลจะยกเลิกคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว และจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับเนสท์เล่ บีบให้เนสท์เล่ ต้องยอม
คนไทยฆ่าธุรกิจคนไทยด้วยกันเองหรือไม่?
งานนี้ ดูเหมือนสิ่งที่ ประยุทธ ได้บรรยายในคําฟ้องว่า เนสท์เล่ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ พยายามทุกวิถีทางที่จะทําลายธุรกิจกาแฟของ ประยุทธ ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทยนั้น ไม่เพียงแต่จะสร้างตํานาน “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ได้สําเร็จ แต่กําลังจะกลายเป็น คนไทยฆ่าธุรกิจของคนไทยด้วยกันเองไปเสียแล้ว เพราะทันทีที่ เนสท์เล่ ต้องยุติการผลิต รับซื้อ นําเข้า และจําหน่ายกาแฟสําเร็จรูปทุกรูปแบบ ตั้งแต่กาแฟผสม กาแฟบดคั่ว พร้อมดื่ม และกาแฟกระป๋องในไทย ผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องเสียหายเดือดร้อนไปกับเนสท์เล่ด้วย ก็คือ ผู้ ประกอบการค้าปลีกทั้งรายใหญ่ รายเล็ก รวมไปถึงร้านค้าและคนขายเครื่องดื่มกาแฟ และกําลังจะลุกลาม บานปลายไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ส่งมาผลิตเนสกาแฟ งานนี้จึงมีคนไทยที่ต้องเสียหาย และอาจมีคนไทยบางรายที่ได้รับประโยชน์จากการที่เนสกาแฟ ต้องหยุดผลิตและจําหน่ายในไทยไปชั่วคราว
แน่นอน แม้ว่าดาบที่ ได้มาจะเป็นเพียงชั่วคราว แต่ก็มากเพียงพอที่จะทําให้ เนสท์เล่ ต้องบาดเจ็บหนัก หรือ ต้องสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดกาแฟสําเร็จรูปอันดับที่ 1 หรือเสียส่วนแบ่งทางการตลาดกาแฟสําเร็จรูปในไทยไปให้เจ้าอื่น มากเพียงพอที่จะทําให้คนไทยที่ทํามาหากิน เกี่ยวข้องกับธุรกิจเนสกาแฟ ต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากเนสกาแฟ เพราะทันทีที่ เนสท์เล่ หยุดจําหน่าย ก็เริ่มมีข่าวลือในตลาดว่าสินค้าขาดแคลน เริ่มมีการกักตุนสินค้า และกําลังจะเริ่มปรับราคาเพิ่มขึ้น สําหรับผู้นิยมบริโภคกาแฟ อาจจะต้องได้รับความเดือดร้อน ตามมา
ถึงวันนี้ ยังไม่รู้ว่า ความขัดแย้งระหว่าง ประยุทธ กับ เนสท์เล่ จะจบลงอย่างไร ความเสียหายที่ ประยุทธ อ้างว่าได้รับจากการบอกเลิกสัญญาของเนสท์เล่ จะมีอยู่จริงตามที่กล่าวอ้างในคําฟ้องหรือไม่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของคนไทย และผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามาลง ทุนทําธุรกิจในไทยมากน้อยเพียงใด
แน่นอนที่สุด คงจะเริ่มมีคนตั้งคําถามขึ้นมาในใจแล้วว่า “หรือเจ้าพ่อเนสกาแฟ จะกลายเป็นคนฆ่า เนสกาแฟ ให้ตายไปจากประเทศไทย และปิดตํานาน เจ้าพ่อเนสกาแฟ ของตนเสียเอง”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เนสท์เล่’ ห่วงคู่ค้า-เกษตรกร ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาล
- ‘เนสท์เล่’ ลงนามร่วมคณะเกษตร กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนาการเลี้ยงโคนม
- เนสท์เล่ ประเทศไทย ประกาศคืบหน้าความยั่งยืนปี 2025 มุ่งสู่ Net Zero 2050
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg