Opinions

‘กนง.’ ส่อแวว ‘ลดดอกเบี้ยนโยบาย’ ในอนาคต เหตุเศรษฐกิจยังเปราะบาง

Avatar photo

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับเดิมต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลงได้มากกว่าที่มองไว้ ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าเกษตรซึ่งจะชะลอตัวลงตามผลผลิตที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้ราคาหมวดพลังงานและอาหารสดมีแนวโน้มจะไม่เร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต

ดอกเบี้ยนโยบาย

อีกทั้งการแข่งขันจากสินค้านำเข้าสูงขึ้น ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ยังต้องติดตามผลจากการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังเปราะบาง

สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อภาพเศรษฐกิจที่แผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (2H67) ซึ่งคาดว่า จีดีพีเติบโต 0.7% QoQsa (เทียบกับ 1.2% ในครึ่งปีแรก) ตามการบริโภคระยะข้างหน้า ที่มีแนวโน้มชะลอตัว และมีบทบาทน้อยลงต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี

ส่วนการลงทุนอาจเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติมจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการผลิต สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ซึ่งประเมินเช่นกันว่า เศรษฐกิจช่วง 2H67 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากการบริโภคภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจแผ่วลงจากสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ติดลบ และการหดตัวของดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ปัจจัยหนึ่งจากการตีตลาดของสินค้าจีน ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นตามการยกระดับของสงครามการค้า และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

ดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ มุมมองของ กนง. ต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ จะช่วยเปิดช่องเพิ่มเติมสำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเพิ่มขึ้น

Krungthai COMPASS มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอ่อนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ครอบคลุมสินค้า 67.06% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ล่าสุดในเดือน กรกฎาคม 2567 อยู่ที่เพียง 0.52% ทรงตัวต่ำกว่า 1.0% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว สะท้อนถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่