Wellness

ทำความรู้จัก ‘มะเร็งเต้านม’ โรคร้ายที่คร่าชีวิต ‘นุ๊กซี่’

เป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้า กับการจากไปของ “นุ๊กซี่” อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ แฟนสาวของ “ปู แบล็กเฮด” นักร้องดัง ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม หลังจากที่เธอต้องต่อสู้กับโรคร้ายนี้มาร่วมปี 

“มะเร็งเต้านม” เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนม หรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

มะเร็งชนิดนี้ ยังคงเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และทั่วโลก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง 1% ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากตรวจพบเร็ว มีโอกาสรอด และหายขาดได้

นุ๊กซี่

ทำความรู้จัก ‘มะเร็งเต้านม’ โรคร้ายที่คร่าชีวิต ‘นุ๊กซี่’

สาเหตุ

ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ยิ่งถ้ามีญาติสายตรงเป็นก็ยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่มีแม่ น้องสาว พี่สาว หรือบุตรเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ควรต้องได้รับการตรวจเช็ค

อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติของยีนในเซลล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้

มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (มากกว่าอายุ 50 ปี) ทำให้ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนนานกว่าผู้หญิงปกติ

เพศ ผู้ชายอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่น้อยกว่าผู้หญิงมาก ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า

เต้านมมีเนื้อเยื่อแน่น หมายถึง มีต่อมนํ้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และอีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้แพทย์พบความผิดปกติได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านม หรือการใช้เครื่องมือช่วยวินิจฉัย

เชื้อชาติ มีความสำคัญ ผู้หญิงตะวันตกมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงชาวเอเชีย

ประวัติดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เหล้าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่า 2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า

อ้วน ความอ้วนนอกจากจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวานเท่านั้น ยังทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมมารดา เนื่องจากช่วงให้นมบุตรจะทำให้มารดาไม่มีประจำเดือนมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และป้องกันมะเร็งเต้านมได้

นุ๊กซี่
Breast cancer diagram close up illustration

อาการต้องสงสัย

อาการต่างๆ ต่อไปนี้อาจบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งซึ่งคุณควรไปปรึกษาแพทย์ทันที

  • คลำได้ก้อนแข็งในเต้านม
  • มีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะผิวเต้านม มีก้อนขรุขระ หรือมีแผลที่ไม่หาย ผิวหนังแข็ง หรือมีสีเปลี่ยนแปลง
  • ลักษณะของผิวเต้านมเห็นรอยรูขุมขนชัดขึ้น ซึ่งทำให้ดูคล้ายลักษณะของผิวส้ม ซึ่งเกิดจากมีเซลล์มะเร็งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังในบริเวณหลอดนํ้าเหลือง
  • มีรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านม
  • หัวนมบุ๋ม
  • เลือดออกจากหัวนม
  • เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม ที่เต้านมเพียงข้างเดียว

การจำแนกระยะของโรค

ระยะเริ่มแรก มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ยังไม่มีการลุกลามไป มักจะยังคลำก้อนผิดปกติที่เต้านมไม่ได้ และยังไม่มีการกระจายไปที่ใด

ระยะลุกลาม ระยะนี้โรคมักจะเป็นค่อนข้างมาก เช่นก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้น มากกว่า 5 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีการลุกลามไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ เช่น คลำ ได้ก้อนที่รักแร้ ยิ่งถ้าใหญ่หรือติดกับเนื้อเยื่อข้างใต้ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะห่างไกล

ระยะแพร่กระจาย คือ มีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะห่างไกล เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง

นุ๊กซี่

การตรวจคัดกรอง

เนื่องจากมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบในระยะเริ่มแรกดังนั้น การตรวจพบแต่เนิ่น ๆ คือ หัวใจสำคัญ วิธีการที่ทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่แรก ๆ มีดังนี้

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ ควรตรวจหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะลดความตึงลงสามารถคลำได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นของเดือน

ขั้นตอนในการตรวจ

  • ดูหน้ากระจก เพื่อดูว่าเต้านมสองข้างเท่ากันหรือไม่ หัวนมอยู่ในระนาบเดียวกันไหม ผิวเต้านมมีรอยบุ๋มหรือมีแผลอะไรผิดปกติหรือไม่ หัวนมบุ๋มลงไปผิดปกติหรือไม่
  • คลำ ขั้นตอนนี้ควรทำในท่านอน โดยเอาแขนด้านที่จะตรวจรองไว้ใต้ศีรษะ และเอาผ้าเล็ก ๆ มารองบริเวณไหล่เพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้คลำเต้านมให้ทั่ว ๆ โดยอาจคลำวนเป็นก้นหอย หรือคลำเป็นส่วน ๆ ของเต้านมก็ได้แล้วแต่ความถนัด โดยหลักใหญ่คือการคลำให้ทั่วเต้านม ถ้าสัมผัสพบก้อนสะดุดมือผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยัน
  • ให้บีบหัวนมดูว่ามีของเหลว เลือด ผิดปกติไหลออกมาหรือไม่ ถ้ามีให้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

การตรวจเต้านมด้วยแพทย์

เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเต้านมโดยแพทย์ประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจด้วยตนเองไม่ได้พลาดความผิดปกติอะไรไป หรือถ้าตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป

นุ๊กซี่

หลักการรักษา

การรักษาเฉพาะที่  ได้แก่ การผ่าตัดและการฉายรังสีเพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านม และรักแร้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกคือ มะเร็งเต้านมจะหายได้นั้น จะต้องสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายได้จนหมด

การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย  ได้แก่ เคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจมีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย โดยการรักษาแบบนี้ มีได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นก ารตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม

ข้อมูล: Roche

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo