สาธารณสุข เร่งยุติ 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เดินหน้าพัฒนาระบบบริการควบคุม–ดูแลรักษา ให้มีประสิทธิภาพ หลังสถิติยังพุ่งสูง
หลังจากพบว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังพุ่งสูง ทั้งเพศหญิง-ชาย ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งสองกลุ่ม โดยเฉพาะในเพศชายที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 25.3 เพิ่มเป็น 44.1 ต่อประชากรแสนคน
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ จึงมีการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ และมีมติเห็นชอบ 2 ประเด็นสำคัญเพื่อยุติโรค ได้แก่ เห็นชอบกรอบการพัฒนาระบบบริการควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบการบริหารจัดการยาต้านไวรัส และระบบข้อมูลในทุกสิทธิ์ ให้มีประสิทธิภาพ เน้นดำเนินการแบบบูรณาการทุกภาคส่วน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เห็นชอบกรอบการพัฒนาระบบบริการควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ 2. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบการบริหารจัดการยาต้านไวรัส และระบบข้อมูลในทุกสิทธิ์ ให้มีประสิทธิภาพ เน้นดำเนินการแบบบูรณาการทุกภาคส่วน
ประเด็นแรกมีแนวทางพัฒนา 6 ด้าน ดังนี้
- พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ระบบข้อมูล และระบบติดตาม
- พัฒนาคุณภาพบริการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- พัฒนาคลินิกกามโรคในสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นศูนย์เรียนรู้บริการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- จัดทำแผนงานป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- จัดทำแผนงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอด
- ทบทวนแผน และยุทธศาสตร์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปี 2560–2564 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
การขับเคลื่อนงานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรค พบอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง (ฝีมะม่วง) เพิ่มขึ้นจากอัตราป่วย 18.9 ต่อประชากรแสนคนในปี 2556 เพิ่มเป็น 28.8 ต่อประชากรแสนคนในปี 2560
อีกทั้งพบว่าทั้งเพศหญิงและเพศชายมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นทั้งสองกลุ่ม โดยเฉพาะในเพศชายที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 25.3 เพิ่มเป็น 44.1 ต่อประชากรแสนคน
สำหรับประเด็นที่สอง ที่คณะอนุกรรมการเห็นชอบ เป็นข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการยาต้านไวรัสทั้งระบบการจัดซื้อ การสำรองยา การเบิกจ่าย และการกระจายยา ของทุกสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพ และให้ทุกกองทุนใช้โปรแกรมกลาง คือ NAP ในการบันทึกการให้ยา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ทราบถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย การประเมินความต้องการใช้ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก รวมถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422