อากาศแปรปรวนแบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีการเฝ้าระวัง เชื้อก่อโรคปอดอักเสบรุนแรง ใน 30 โรงพยาบาล โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เก็บสถิติมาอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2555-2559 พบกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 425 ราย ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) จำนวนถึง 44% หรือ 187 ราย
เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการหนักเบาไปจนถึงเสียชีวิต โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะ 4-6 วัน มีอาการต่างๆ อาทิ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อย เนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง
จากสถิติพบเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เสียชีวิต 9 ราย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 97 รายมีการติดเชื้อ RSV 4 ราย คิดเป็น 5% และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย
การเฝ้าระวังยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2561 (ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2561) ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผู้ป่วยที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 9 แห่ง พบว่ากลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ 620 ราย ติดเชื้อ RSV จำนวน 65 ราย คิดเป็น 10%
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ RSV อย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้มักพบในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงใน 4 กลุ่ม หลักคือ
- เด็กเล็ก
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
- ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด หัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ
เชื้อ RSV ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างสกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ
การวินิจฉัยทำได้โดยตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลังในจมูก การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนเน้นป้องกันการติดเชื้อ 7 วิธีดังต่อไปนี้
- การล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัด หรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูก
- ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกัน
- หากมีอาการป่วยควรหยุดพัก โดยเฉพาะนักเรียน
- ควรปิดปากและจมูกเมื่อไอ หรือจาม
- หากผู้ป่วยไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
กรมควบคุมโรคเปิดสายด่วน 1422 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม