Wellness

WHO จัดอันดับไทยที่ 3 ของโลก จัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นับเป็นข่าวดีด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อ ด้วยการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (2560 – 2564) และได้กําหนดตัวชี้วัดภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) เพื่อเป็นเป้าหมายในการดําเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ

จากการดำเนินการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินให้ไทยมีผลการดำเนินงานในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ NCDs ที่มีความก้าวหน้าเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

14
ภาพ เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า

นางชุมยา สวามินาถัน รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะทำงานด้านโรคไม่ติดต่อขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Interagency Task Force : UNIATF on NCDs) เดินทางมาประเทศไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศจนมีความก้าวหน้า และเห็นผลมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะผลักดันการดำเนินงานเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ Free of NCDs society

โรคไม่ติดต่อ หรือ โรค NCDs คือ อะไร ?

โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ หากแต่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ภายในร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นผลจากวิถีการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวาน มัน เค็มจัด และมีความเครียด การเจริญเติบโตของโรคจะค่อย ๆ สะสมสุดท้ายจะเกิดอาการเรื้อรังในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องและทันเวลา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง

โรคไม่ติดต่อ NCDs ยอดฮิตของคนไทย มีอะไรบ้าง ?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง  โรคเบาหวาน โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง  โรคมะเร็ง

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ออกมาตรการที่สำคัญเพื่อปกป้องประชาชนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
– การยกระดับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งส่งผลให้การบริโภคยาสูบลดลง
– การห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย น้ำมันและอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันทรานส์ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
– การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
– การออกมาตรการภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มปรับส่วนผสมให้มีน้ำตาลให้น้อยลง

ข้อมูลจากการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนกว่า 4 แสนราย หรือเท่ากับ 71% ในแต่ละปี

ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ มีปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลให้โรคจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกาย ในปี 2552 ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อสูงถึง 1,985 ล้านบาท

ปัญหาของกลุ่มโรค NCDs เหล่านี้นับเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ซึ่งประเทศไทยจะยกระดับการดำเนินงานป้องกันโรคไม่ติดต่อของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประชาชนมีสุขภาพดี ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 25% ภายในปี 2568 และลดลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ต่อไป

ที่มา: เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight