Wellness

‘มะเร็งตับ’ พบมากอันดับ 1 ในไทย เสียชีวิตกว่า 1.5 หมื่นคนต่อปี

‘มะเร็งตับ’ เป็นมะเร็งที่พบมากสุดในไทย แพทย์ชี้ แต่ละปีคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 15,000 คน ทั้งยังเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง

การจากไปของ “ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับนั้น ทำให้ผู้คนกลับมาให้ความสนใจกับเรื่อง “มะเร็งตับ” กันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เผยว่า มะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในคนไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย

Liver 1

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับ และท่อน้ำดี ถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย

มะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ

นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้

ขณะที่นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก

อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวด หรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น

หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีนการอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การรักษามะเร็งตับ และท่อน้ำดีมีหลายวิธี จำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคํานึงหลายประการ

สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหาร หมักดอง

หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง หรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo