Wellness

ภาคประชาสังคมผนึกกำลังดูแลสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

soci

ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมผนึกกำลังร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมของโลก ด้านเอ็นจีโอเรียกร้องรัฐบาลคุมเข้มการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบของประชาชนในประเทศนั้น เร่งคลอดพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาฯ สร้างกลไกความเข้มแข็งยกระดับเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศ

ศ.ดร.ลี ซีแจ ศาสตราจารย์วิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งประเทศเกาหลี นายกสภาสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐเกาหลี เปิดเผยในงานเสวนา”ขบวนการภาคประชาสังคมกับการสร้างสรรค์สังคมโลก” ว่า หลังจากนี้ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศจะต้องหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น เพื่อแสดงพลังร่วมกันต่อสู้คัดค้านในประเด็นต่างๆโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม

เห็นได้จากกรณีเขื่อนเซเปียน  เซน้ำน้อยแตก ที่ลาว สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งโครงการนี้มีผู้ลงทุนทั้งไทย ลาว และเกาหลี จากการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  ลาว โฮลดิ้ง สเตท เอนเตอร์ไพรซ์  ซึ่งเป็นวิสาหกิจของลาว และนักลงทุนเกาหลีใต้  2 บริษัทได้แก่ บริษัทเอสเค เอนจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด และบริษัทโคเรีย เวสเทิร์น พาวเวอร์  จำกัด

ที่ผ่านมาในส่วนของเครือข่ายได้เรียกร้องให้มีการแสดงรายละเอียด ที่บริษัทเกาหลีใต้ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริษัทเอสเค เอ็นจีเนียริ่งซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างหลักของเขื่อนแห่งนี้

ขณะที่นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ สมัชชาองค์กรชุมชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก และลงทุนในอุตสาหกรรมที่กระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ เขื่อน เหมืองแร่ดีบุก และถ่านหิน โดยอาศัยมาตรฐานเพื่อดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าของบางประเทศ ในการเข้าไปลงทุน โดยไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อประชาชนในประเทศนั้น

หลังจากนี้จึงจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศให้ชัดเจน โดยให้ใช้มาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ใช้ในประเทศไทย

ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ลาว ที่มีมากกว่า 30 เขื่อน และส่วนใหญ่ส่งกลับมาขายให้ไทย แต่เบื้องหลังของการลงทุนดังกล่าวมีการอพยพประชาชนจำนวนมากไม่ต่างจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทยในอดีต และพื้นที่ใหม่ที่จัดให้ชาวบ้านไปอยู่นั้นก็เป็นพื้นที่ทุรกันดารกว่าเดิม ทำให้ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพได้น้อยลง

สำหรับภาคประชาสังคมของไทย ขณะนี้กำลังวางแนวทางสร้างความเข้มแข็งโดยมีกฎหมายมารองรับ

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า ถึงเวลาที่ภาคประชาชนต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ถักทอเป็นเครือข่าย และเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้มองสังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก

ขณะนี้กำลังมีความพยายามผลักดันพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…เพื่อให้ขบวนการภาคประชาสังคมมีพลังและมีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยจะปรับมาใช้ช่องทางการเสนอกฎหมายโดยสนช.จำนวน 20 คน เพื่อให้กฎหมายเข้าสู่สนช.ได้รัฐบาลนี้

“การเร่งรัดพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) ที่มีกฎหมายมารองรับกลไกการทำงานอย่างชัดเจน มีธรรมาภิบาล และมีความชอบธรรมที่จะเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศกับหน่วยงานราชการ หลุดพ้นจากสภาพเดิมที่องค์กรภาคประชาสังคมเป็นเพียงส่วนเกิน” 

ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตามเชื่อว่าจะยังมีกลุ่มต่างๆที่มีหลายเฉดสีต่อไป หัวใจสำคัญก็คือ ต้องอยู่ร่วมกันได้ และไม่ขยายความรุนแรงออกไป

จากการศึกษาขบวนการภาคประชาสังคมของไทย พบว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมจะประสบความสำเร็จมี 4 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย

  1. เป้าหมายการเคลื่อนไหวต้องไม่สุดโต่งจนเกินไปไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้
  2. โครงสร้างองค์กรต้องมีความเป็นสถาบันไม่ใช่ดำเนินการเพื่อมุ่งตอบสนองผู้ก่อตั้งหรือผู้นำ
  3. การบริหารจัดการต้องเป็นประชาธิปไตย พร้อมเปิดกว้างทางความคิดไม่ใช่การตัดสินในขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงอย่างเดียว
  4. บนความหลากหลายขององค์กรภาคประชาสังคมนั้น ต้องเหนียวแน่นผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ

141623

ในการเสวนา “ขบวนการภาคประชาสังคมกับการสร้างสรรค์สังคมโลก” จัดโดยศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายจุฬาฯนานาชาติ (Chula Global Network)  สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2560 ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสหพันธ์รัฐเกาหลีกับไทย

ศ.ดร.ลี ซีแจ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของกระบวนการ Candlelight Revolution” หรือการปฏิวัติใต้แสงเทียน จากการออกมาจุดเทียนประท้วงของประชาชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในเกาหลีใต้

ล่าสุดคือการที่ประชาชนถึง 17 ล้านคนออกมาประท้วงนานกว่า 5 เดือน เพื่อให้ประธานาธิบดี ปัก กึน-เฮ ในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง สาเหตุเพราะไม่พอใจการทำงานของประธานาธิบดี จากปัญหาคอรัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกรณีเรือเซวอลล่มในทะเลที่ทำให้มีเด็กนักเรียนเสียชีวิตหลายร้อยคนเมื่อปี 2557 แรงกดดันของประชาชน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีมีมติเอกฉันท์ถอดถอนประธานาธิบดี ปัก กึน-เฮออกจากตำแหน่งในที่สุด

พร้อมระบุว่าปัจจุบันประธานาธิบดีของเกาหลีถูกคุมขังในปัจจุบัน 2 คน หากรวมก่อนหน้านี้มีประธานาธิบดีถูกคุมขังรวม 4 คน

ศ.ดร.ลี ย้ำว่า ปัจจัยที่ทำให้การปฏิบัติใต้แสงเทียนของประชาชนเกาหลีประสบความสำเร็จ เป็นเพราะ ปัจจัยดังนี้

  • การปฏิวัติทำโดยประชาชนจำนวนมาก โดยไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นฮีโร่ หรือฉายเดี่ยว
  • มีสื่อมาช่วยเปิดโปง
  • มีการสื่อสารระหว่างกันผ่าน  “เครือข่ายสังคมออนไลน์” (Social Networking Service:SNS)

Avatar photo