Wellness

ไข้หวัดใหญ่ก็ระบาด ! แพทย์ย้ำใส่หน้ากาก-ล้างมือ-ทำความสะอาดสภาพแวดล้อม

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ระบุไข้หวัดใหญ่ ระบาดคู่โคโรนา ย้ำประชาชนป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก-ล้างมือบ่อยๆ-ทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบ พร้อมแนะนำแท็กซี่ทำความสะอาดในรถ เปิดหน้าต่าง จอดรถตากแดด เชื้อตายได้  

ANN 4745

วันนี้ ( 2 ก.พ.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ล่าสุด มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 8 ราย ยังอยู่โรงพยาบาล 11 ราย อยู่ระหว่างรักษา โดยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน (POI) มารักษาเพิ่มอีกอีก 38 คน รวมเป็น 382 คนทั่วประเทศในหลายๆจังหวัด ยอดดังกล่าวพบจากสนามบิน 40 ราย มาที่โรงพยาบาลเอง 332 ราย และได้รับแจ้งจากโรงแรม มัคคุเทศก์ และผ่านศูนย์รับแจ้งผู้ป่วยอีก 10 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตในไทย แต่พบผู้เสียชีวิตรายแรกนอกประเทศจีน ที่ฟิลิปปินส์

สำหรับการดำเนินงานของไทย เราดำเนินการเข้มข้นด้วยมาตรการขั้นสูงสุด 3 ส่วน ส่วนของสนามบิน ตรวจคัดกรองเที่ยวบินมาจากจีนทุกเที่ยวบิน และคัดกรองเที่ยวบิน ที่ไปจีนด้วย ตามที่ทางการจีนได้ร้องขอให้ประเทศต่างๆดำเนินการ แม้จะทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และแพทย์ทหาร ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี

ส่วนต่อมา เฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน มีรายงานผู้ป่วยเข้าเกณฑ์มาตลอด มากกว่าโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้ป่วยต่างชาติส่วนใหญ่ใช้โรงพยาบาลเอกชน ส่วนที่โรงแรม กรุ๊ปทัวร์ และสถานที่ประกอบการที่มีนักท่องเที่ยว ขอให้มีการช่วยเป็นหูเป็นตา รวมไปถึงชมรมและกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ ก็เริ่มตื่นตัว ให้ความรู้ผู้โดยสาร และคัดกรอง เพิ่มความเร็วในการตรวจพบผู้ป่วย

ในส่วนของแท็กซี่ ที่ใกล้ชิดนักท่องเที่ยว แนะนำให้เช็ดผิวสัมผัสให้บ่อยๆ ตั้งแต่ง่ายๆ คือ เบาะพลาสติก เช็ดด้วยน้ำที่มีสบู่ไม่มาก และเช็ดด้วยน้ำเปล่า ในจุดที่เจอสารคัดหลั่ง ในกรณีผู้โดยสารไอจาม น้ำมูกน้ำลายกระเด็น ให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% ก็สามารถฆ่าเชื้อได้

“ส่วนสารละลายคลอรีน ใช้กับสหกรณ์ มีโอกาสลดการปนเปื้อน อย่างไรก็ตามแนะนำให้แท็กซี่ หมั่นระบายอากาศในรถ จากด้านหน้าไปหลัง โดยเปิดหน้าต่าง ซึ่งเชื้อว่าผู้โดยสารคงไม่ว่าอะไร เพราะเขาก็ชอบรับลม เชื้อโรคจะได้ไม่สะสมในรถ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ เกิดการแพร่เชื้อ และต้องมีหน้ากากติดรถ 2 ชิ้นไว้เสมอ ให้ผู้โดยสารที่ไอจามและไม่ได้ใส่ และไว้ใส่เอง เพื่อความปลอดภัยทั้งคู่ และต้องล้างมือบ่อยๆ” 

ทั้งนี้หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศไวรัสโคโรนา เป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ ย้ำว่าเราได้ยกระดับในการป้องกัน โดยทุกหน่วยงานในประเทศไทยได้เข้ามาร่วมมือ มีการระดมทำความสะอาดสถานที่สาธารณะหลายแห่ง โดยเฉพาะที่มีการสัมผัส ลดโอกาสมีเชื้อในสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ ลดโอกาสติดเชื้อที่มือ และต้องไม่เอามือไปสัมผัสไปที่เยื่อบุต่างๆของตัวเอง ทั้งที่ปากและตา

และใช้หน้าหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประชาชนใช้หน้ากากมากขึ้น โดยขอใช้หน้ากากผ้าสำหรับคนไม่ป่วย ผู้ป่วยแล้ว ใช้หน้ากากอนามัย และจริงๆต้องหยุดพัก จะได้หายเร็ว และลดโอกาสแพร่เชื้อ ส่วนหน้ากาก N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีโอกาสได้รับเชื้อเยอะ เพราะต้องดูแลผู้ปวย หากใช้หน้าหากอย่างเหมาะสม และจำเป็น เราก็จะมีเพียงพอ

สำหรับการรับคนไทยจากอู่ฮั่น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งคนไทยที่รับกลับ และคนไทยในประเทศไทยอย่างสมดุล โดยมาตรการที่ดีที่สุด คือ ทำอย่างไรให้คนไทยกลับมาอย่างปลอดภัย และได้รับการดูแลต่อเนือง จริงๆได้รับการดูแลตั้งแต่ที่จีน โดยหลังรับกลับจะดูแล 14 วัน จากระยะฟักตัวจริงๆไม่เกิน 7 วัน

ทางด้านสถานที่ที่ดูแล อยู่ระหว่างหารือ โดยต้องการให้มีความสะะดวกสบายระดับหนึ่ง และไม่สัมผัสผู้อื่น ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ โดยรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข มาช่วยกันวางแผน หลักการ คือ ดูแลให้ครบ 14 วัน และทำด้วยความรอบคอบ ต้องการผลดีที่สุด สำหรับคนไทยที่กลับมา และคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย

ANN 4715

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางการทำงานของเราตอนนี้ กรมการแพทย์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค และทีมแพทยเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาให้ทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน และรัฐบาล รวมถึงในต่างจังหวัด โดยมีอาจาย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นหัวหน้าขบวน รวมถึงรับดูแล ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกันก็บูรณาการ เมื่อได้รับการแจ้งเหตุ หากเข้าข่ายเข้าเกณฑ์ และรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และเขตสุขภาพจังหวัด จะมีการหารือกับโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลับ กทม. เอกชน และกรมการการแพทย์ บูรณาการทรัพยากรด้วยกันทั้งหมด โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการจัดอบรม ทำความเข้าใจไวรัสโคโรนา และการดูแล ที่โรงพยาบาลสงฆ์ด้วย ให้เราสามารถรองรับผู่ป่วยได้ในทุกสภาวะ

” สำคัญคือ การดูแลตัวเองของประชาชน ให้ล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำความสะดาดจุดสัมผัสต่างๆ ไม่เฉพาะแท็กซี่ ทำตั้งแต่ที่บ้าน และสถานที่ ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ห้องอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น ล้างมือบ่อยๆ สำหรับแท็กซี่ก็เตรียมหน้ากาก ผู้โดยสาร และทำความสะอาด พื้นที่จุดสัมผัสร่วม “

ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ และควบคุมโรค ผู้เชียวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ 382 คน โดยผู้ป่วยที่เดินมา ในไทย ไม่รู้ว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ หลายคนรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยง แต่ขอย้ำว่า หากไม่เข้าเกณฑ์ไม่แนะนำในการตรวจ เพราะทรัพยากรแล็ป มีจำกัด แม้จะกระจายทั่วประเทศแล้ว เราต้องเน้นเสิร์ฟในกรณีที่เข้าหลักการเแพทย์ 382 คน ซึ่งภาคัฐจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่คนไม่เข้าหลักเกณฑ์ 382 คน แนะนำว่า หากต้องการตรวจ สามารถตรวจเองได้ แต่ต้องจ่ายเงินเอง

สำหรับแนวทางการดูแลรักษาคนไข้ 382 คนนั้น เราสรุปคร่าวๆว่า เขาเป็นไวรัสโคโรนา 5% ที่เหลือ 95% ก็จะดูแล จนกว่าจะพบว่าไม่ใช่โรคนี้จริง และตรวจต่อ เป็นโรคอะไร แต่เบื้องต้นเราต้องหาโรคนี้ก่อนว่าเป็นหรือไม่เป็นอันดับแรก แต่หากไม่เป็น แต่มีไข้ไม่สบาย ก็ตรวจรักษาตามความเห็นของแพทย์ที่ดูแล

หากพบเป็นไข้หวัดปกติ แพทย์ที่ดูแลก็จะให้ยาไข้หวัดกิน หากเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ไป ส่วนจะให้นอนโรงพยาบาลต่อ หรือไม่แล้วแต่คำวินิจฉัยของแพทย์ ถ้าสบายดีก็ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่กรณีกลับบ้านแล้ว ไข้ไม่ลดลง ก็ต้องกลับมาหาแพทย์ใหม่ ส่วนคนเป็นไวรัสโคโรนา ต้องอยู๋ในโรงพยาบาลจนกว่าจะไม่พบเชื้อ จึงจะกลับบ้านได้

นพ.ทวี อธิบายถึงคนจีนที่ป่วยที่เชียงใหม่ แต่มาพบเชื้อไวรัสโคโรนาในภายหลัง ว่า ครั้งแรกอาจตรวจไม่เจอได้ แต่มาเจอเชื้อภายหลังเป็นปอดบวมแล้ว ยังไม่เห็นเคส แต่ในฐานะที่ดูแลโรคติดเชื้อมา 40 ปี เป็นไปได้ว่าตอนแรกเป็นเชื้ออื่นร่วมด้วยก่อน ส่วนโคโรนาอยู่ระหว่างการเพาะตัว และตรวจไม่เจอ มาเจอตอนแสดงอาการตอนเป็นปอดบวม

และที่หาไม่ได้เจออีกกรณี และพบบ่อย คือ การเก็บตัวอย่างไม่มีคุณภาพ ซึ่งมีแพทย์ผู้ใหญ่หลายคนอยากได้มากที่สุดในการตรวจเชื้อ คือ เสมหะ ไม่ใช่น้ำมูก ดังนั้นคนเก็บต้องเชี่ยวชาญพอ  อย่างไรก็ตามทราบข่าวว่า ตอนนี้คนไข้คนนี้ ดีขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ต้องการอธิบายถึง คำว่า “สัมผัส” ไม่ได้แปลว่า ไปแตะต้อง แต่หมายถึงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เป็นเวลาพอสมควร การที่เราแยกคนไข้ออกมา เพราะตรวจไม่พบโคโรนา แต่มาพบภายหลัง ดังนั้นคนไข้ที่นอนเตียงใกล้ชิด 1-2 เมตร ถือว่าเสี่ยงสูง คนไข้เหล่านี้ต้องเฝ้าระวังต่อไป จนกว่าจะครบ 14 วัน รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่ใส่ครื่องป้องกันที่เหมาะสม ถือเป็นผู้สัมผัสด้วย

นพ.ทวี ตอบคำถามว่า เชื้อสองตัว คือไข้หวัดใหญ่ และโคโรนา มาในคนเดียวกันช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้ โดยใน 9 รายแรก มีเชื้ออื่นร่วมด้วย แต่เชื้อไม่ก่อโรค ทำให้คนไข้ไม่มีอาการรุนแรง มากขึ้นกว่าเดิม ช่วงแรกของการคัดกรอง เราตรวจเชื้ออื่นด้วย แต่ตอนหลังคนไข้เพิ่มขึ้นเยอะ แต่ละแล๊ปมีค่าใช้จ่าย 5,000-6,000 บาท การตรวจในระยะหลัง จึงต้องตอบโจทย์ “โคโรนา สายพันธุ์ใหม่” ที่เรากำลังต่อสู้ก่อน ส่วนตรวจหาโรคอื่่นทางการแพทย์ ก็งดไปก่อน แต่หากตรวจแล้ว ไม่เจอโคโรนา ก็สามารถย้อนกลับไปตรวจได้ เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นเชื้ออะไรต่อไป

สำหรับที่ฮ่องกง และหลายประเทศ ที่ตรวจพบว่า ผู้ที่เป็นโคโรนา มีไข้หวัดใหญ่ผสม 30% ดังนั้น ในการคัดกรองผู้เข้าเกณฑ์ 382 คน ก็เป็นไปได้ที่จะมีไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย 30% เพราะในเมืองจีนเอง ก็มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ด้วย และไทย ก็มีไข้หวัดใหญ่ระบาดด้วยเช่นกัน แต่น้อยกว่าของจีน

ในกรณีคนเดียวกันได้รับ 2 เชื้อ ทั้งไข้หวัดใหญ่ และโคโรนา โอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ กินยาสเตียรอยด์หรือไม่ และอายุเท่าไหร่

ส่วนสถานการณ์เจอไข้หวัดนกที่หูหนาน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับกับเมืองที่กำลังมีปัญหาต่างๆ และเจอเชื้อในสัตว์ปีก เราก็งัดตำราเดิมออกมา อธิบายได้ว่า การเจอเชื้อในสัตว์ปีกเมื่อไหร่ ต้องทำลายทั้งหมด แต่ไข้หวัดนกไม่ปนกับโคโรนา เพราะเป็นคนละพวกกัน เป็นไปไมได้ที่จะผสมปนเปกัน เพราะแต่ละตัวเป็นคนละกลุ่ม แต่ก่อโรคใกล้เคียงกัน ไข้หวัดนก อัตราตาย 60 กว่า% ถือว่าร้ายแรง แต่โรคที่มีอัตราตายสูงมักไม่ระบาด เพราะคนไหนติดเชื้อคนนั้นตาย ก็เผาไป แต่หากกรณีเป็นเชื้อที่มีอาการไม่มาก ไปช๊อปปิ้งได้ ก็เท่ากับแพร่เชื้อได้ โอกาสแพร่ระบาดจึงร้ายแรงกว่า

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า สภาพอากาศเมืองไทย ซึ่งเป็นเมืองร้อน เชื้อจะอยู่ไม่ได้นาน สำหรับแท๊กซี่ ก็เปิดหน้าต่าง ให้รับลม หรือ จอดรถตากแดด แดดเดียว เชื้อก็ตายหมด เพราะบ้านเราอากาศร้อนมาก พร้อมกับปฏิบัติบนพื้นฐานความปลอดภัย รับคนมาแล้วไอจาม ก็ปิดแอร์ และให้ลมธรรมชาติพัดเข้ามา เชื้อก็ออกจากหน้าต่างได้

นพ.ธนรักษ์ กล่าวย้ำข้อสงสัยว่า ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่อยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว กลุ่มผู้ป่วย และผู้เข้าเกณฑ์หลายคนเข้ามาคัดกรอง จำนวนมากเป็นไขัหวัดใหญ่ เป็นสายพันธุ์ A ก็มี แต่คนที่เราคัดกรองพบ 19 รายเป็นโคโรนา แต่โดยระบบและสถานการณ์แล้ว การตรวจคัดกรอง ก็ตรวจท้้งหมด ทั้งโคโรนา ไขัหวัด และไข้หวัดใหญ่อื่นๆด้วย

รายงานสถานการณ์ ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลา 08.00 น.

1. รายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อขณะนี้นอนในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 8 ราย รวมสะสม 19 ราย

2. มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 382 ราย คัดกรองจากสนามบิน 40 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 342 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 71 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 311 ราย โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายใหม่ 38 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 25 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม 2563 – 1 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 11,945 ราย ส่วนประเทศจีน ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วย 11,791 ราย เสียชีวิต 259 ราย

4. ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์จะดีขึ้นด้วยความร่วมมือจากประชาชน อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” งดแชร์ข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ และมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข

หากสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/และ Line@/เฟสบุ๊ค: รู้กันทันโรค,Coronavirus2019, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวลวงได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม www.antifakenewscenter.com

 

Avatar photo