Wellness

วัยรุ่นซึมเศร้าพุ่ง วอนสอดส่อง-ใส่ใจ-ส่งต่อ ป้องกันแก้ไขก่อนสาย

มีข่าวปรากฎบ่อยครั้งมากขึ้น กรณีฆ่าตัวตายในหมู่ศิลปินดาราทั้งต่างชาติ และคนไทย ซึ่งล้วนอายุไม่มากนัก ทำให้สังคมเกิดความวิตกกังวล ว่าการผลิตข่าวซ้ำเช่นนี้ จะมีการลอกเลียนแบบเกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้สังคมเกิดความตระหนัก และหันมาใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น โดยเฉพาะหมู่วัยรุ่น อนาคตของชาติ

girl 1822702 640 1

โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้า ซึ่งจริงแล้วเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ความรุนแรง และฆ่าตัวตาย ข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน คิดเป็น 4.4 % ของประชากรโลก

ส่วนประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า 2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศ และอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า กลุ่มผู้ป่วย ไล่ตามลำดับดับนี้

  • วัยทำงานอายุ 25-59 ปี สัดส่วน 62 %
  • วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 26.5 %
  • เยาวชนอายุ 15-24 ปี สัดส่วน 11.5%

จากสถิติดังกล่าว จะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง คือ วัยทำงาน 25-59 ปี แต่กลุ่มเยาวชนก็มีสถิติชัดเจนจนน่าวิตก และต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยกรมสุขภาพจิต ติดตามสถิติ ชี้ชัดว่า กลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี  มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน

สอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่มีกลุ่มเยาวชน โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2561 บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็น 14.6 % และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็น 20.1 %

มาดู 5 อันดับปัญหา ที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็ก และเยาวชน  ประกอบด้วย

1.ปัญหาความเครียด หรือวิตกกังวล
2.ปัญหาทางจิตเวช
3.ปัญหาความรัก
4.ปัญหาซึมเศร้า
5.ปัญหาครอบครัว

เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียด หรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิด หรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

100619 Pic ตัด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต กล่าวถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าหลายครั้ง โดยย้ำว่า มีสาเหตุหลัก เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหา กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า และคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย

ทางด้านแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย  กรมสุขภาพจิต แนะหลัก 3 ส. ประกอบด้วย

  • สอดส่องมองหา
  • ใส่ใจรับฟัง
  • ส่งต่อเชื่อมโยง

window view 1081788 640 1

โดยคนรอบข้างต้องคอยสังเกตลูกหลาน หรือคนรู้จัก หากมีความเครียดวิตกกังวลกับปัญหาที่เผชิญอยู่ สำหรับในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยเรียน จะมีผลต่อสมาธิ และความสามารถในการเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถสังเกตอาการ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่

  1. อาการเหม่อลอย
  2. ไม่ร่าเริงแจ่มใส
  3. มาเข้าเรียนสาย หรือไม่เข้าเรียน
  4. เรียนไม่ทันเพื่อน
  5. หลับในห้องเรียน

เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อแพทย์ เพื่อเข้ารับการดูแล และรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นและหายขาดได้ ย้ำโทรปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง

running 1705716 640 1

สำหรับวิธีการรักษา รวบรวมข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

1. พูดคุยปรับทัศนคติ ให้เข้าใจว่าเหมือนอาการป่วยทั่วไป ใครก็เป็นได้ มีหมอรักษาได้ และหายได้

2. แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอารมณ์ตัวเองเสมอ

3. สอนให้จัดการกับชีวิตปัจจุบัน กลับสู่ชีวิตในแบบเดิมให้เร็วที่สุด กลับไปเรียน หรือทำงาน ออกกำลังกาย ทำให้ชีวิตแอ็คทีฟขึ้น

4. แผนรับมือกับการทำร้ายตัวเอง นึกถึงบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่  และให้นึกถึงความหมายของชีวิตที่กว้างขึ้น

5.นอกจากให้คำปรึกษาทางจิตเวช จะต้องให้ยาที่เหมาะสมด้วย

 

Avatar photo