เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus) เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของไข้หวัดในวัยเด็ก หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามี “โรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่” ด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีโรคปอด หรือโรคหัวใจอยู่เดิม ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้แล้วจะมีอาการรุนแรง และในบางรายอาจทำให้โรคเดิมกำเริบ จนถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เพราะปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาโรคที่จำเพาะ แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า โรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่ เกิดขึ้นในระบบการหายใจทั้งส่วนบน คือ จมูก และโพรงหลังจมูก และส่วนล่าง คือ หลอดลม ลงไปจนถึงเนื้อปอด
แพร่ระบาดติดต่อกันด้วยการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผ่านการหายใจเอาละอองลอย หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่ติดตามผิวสัมผัสโดยมีไวรัสแฝงอยู่ พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่ไปโรงเรียน หรือสถานรับดูแลเด็กช่วงกลางวัน ซึ่งจะเป็นแหล่งนำเชื้อกลับมาแพร่ให้กับคนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
โรคนี้แพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน และในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบโรคนี้มากขึ้นกว่าในอดีต
อาการของโรคจัดอยู่ในกลุ่มไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม น้ำมูกไหล ในคนปกติที่ร่างกายแข็งแรง โรคนี้จะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม เชื้อจะลุกลามลงไปถึงหลอดลมฝอย และถุงลมปอดได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก เพราะหลอดลมตีบจากหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจมีอาการหอบเหนื่อยมากจากถุงลมอักเสบลุกลามไปมาก จนทำให้ปอดอักเสบเป็นวงกว้าง
เมื่อเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นแล้วไปพบแพทย์ช้า หรือไปพบแพทย์แล้วให้การวินิจฉัยได้ แต่ก็ไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผลดีสำหรับรักษา จึงอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ในด้านลบที่ทุกฝ่ายไม่พึงประสงค์
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ผู้ใหญ่ทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้ออาร์เอสวี แต่คนทั่วไปที่แข็งแรงดีเมื่อติดเชื้อมักจะหายได้ง่ายเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะมีโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือโรคปอด โรคหัวใจ หากติดเชื้อ ก็จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติได้ เพราะเมื่อเชื้อเข้าไปหลอดลม และปอด ทำให้โรคปอดกำเริบ และกระเทือนไปถึงหัวใจที่ทำงานประสานงานกัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงคือคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง
แม้ปัจจุบันโรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่จะยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่ได้ผล แต่สามารถป้องกันโรคนี้ไม่ให้ระบาดรุนแรงได้ ด้วยมาตรการเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ และโควิด คือ การหมั่นล้างมือเมื่อออกไปในที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่สาธารณะ ที่มีผู้คนแออัด และมีการระบายอากาศไม่ดี ถ้าจำเป็นต้องใส่หน้ากากให้แน่นหนาและถูกวิธี ถ้าเป็นหวัดไม่ควรออกนอกบ้าน แต่ถ้าจำเป็นให้ใช้เวลาสั้นที่สุด ใส่หน้ากากตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวัคซีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันโรคติดเชื้ออาร์เอสวี สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกันที่เหมาะสมโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคปอดและหัวใจอยู่เดิม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอแอน’ เตือน RSV ระบาดหนัก-เด็กเล็กกลุ่มเสี่ยงควรฉีด ‘ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป’
- เตือนไทยเข้าสู่ฤดูระบาด ‘เชื้อไวรัส RSV’ ก.ค.-พ.ย.
- เตือนโรคฤดูฝน ไวรัส RSV ระบาดสูง หวั่นเด็กเล็กเสี่ยงป่วยง่าย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter) : https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx