เช็ก! สัญญาณเตือน เส้นเลือดในสมองแตก หลังผู้ประกาศดังวูบหมดสติเสียชีวิต แพทย์ชี้หากมีอาการรีบพบแพทย์ด่วน!
จากเกิดเหตุผู้ประกาศข่าวและพิธีกรโทรทัศน์ดีเด่นแห่งปี เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน จนต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากตอนล้มฟาด ศีรษะส่วนก้านสมองได้รับความกระทบกระเทือนหนัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา วันนี้ thebangkokinsight รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดในสมองมาให้ทุกท่านได้อ่าน สังเกตอาการ หากมีความผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที
เส้นเลือดในสมองแตก หรือ หลอดเลือดสมองแตก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในปัจจุบันถือว่าเป็นอาการของโรคร้ายแรง ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น การป้องกันหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการจึงเป็นทางออกของผู้ที่อาจเป็นโรคนี้ได้
หลอดเลือดในสมองแตกเกิดจากอะไร ?
เส้นเลือดในสมองแตกหรือหลอดเลือดสมองแตก เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักเกิดจากหลอดเลือดในสมองที่มีความเสื่อมสะสมจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งนอกจากทำให้หลอดเลือดแตกได้แล้ว หลอดเลือดที่เสื่อมสภาพนั้นอาจจะตีบ อุดตัน ทำให้สมองขาดการหล่อเลี้ยงจากเลือด ส่งผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หากสมองขาดออกซิเจนเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เซลล์สมองตาย และอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต
ใครบ้างเสี่ยงอาการหลอดเลือดสมองแตก ?
กลุ่มคนที่เสี่ยงอาการหลอดเลือดสมองแตกบ่อยที่สุดคือผู้ป่วยวัยสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากการเสื่อมของอวัยวะที่ผ่านไปตามกาลเวลา ตามวัยของมนุษย์ที่มากขึ้นทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างถดถอยลง ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความเสื่อมของหลอดเลือดสมองเกิดได้มากขึ้น ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุม ไขมันสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ผู้ที่ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ ออกกำลังประจำ เลี่ยงอาหารประเภทแป้งและไขมัน รวมทั้งการควบคุมภาวะต่าง ๆ ดังกล่าวได้ดีมักมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่าผู้ที่ละเลยการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้อาจพบหลอดเลือดสมองแตกในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่าที่พบโดยทั่วไป ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิดซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
สัญญาณอันตราย หลอดเลือดสมองแตก
อาการที่บ่งบอกว่าอาจเกิดอาการหลอดเลือดสมองแตกได้นั้นมีลักษณะเฉียบพลันเหมือนกับอาการหลอดเลือดสมองตีบซึ่งผู้ป่วยหรือผู้เห็นเหตุการณ์ (ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ) มักจะสามารถเล่าได้ว่าผู้ป่วยกำลังทำอะไรอยู่เมื่อเกิดอาการขึ้นมาทันทีในขณะนั้น ทั้งนี้ อาการเฉียบพลันทันทีของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดก้อนเลือดที่แตกออกมาจากหลอดเลือดสมอง สัญญาณอันตรายเหล่านี้เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น
- อาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขน หรือขา ซึ่งมักจะเป็นร่างกายซีกซ้ายหรือซีกขวาเพียงด้านเดียว สับสน พูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูดของผู้อื่น
- ปัญหาในด้านการมอง อาจเกิดขึ้นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- ปัญหาในการเดิน ทรงตัว หรือการประสานงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยเฉพาะที่มีระดับความปวดที่มากที่สุดในชีวิตที่ผู้ป่วยเคยประสบมา อาการจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่มีสาเหตุนำมาก่อนที่ชัดเจน
- วิงเวียน คลื่นไส้ หรืออาเจียนผิดปกติ
หากตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลทันที เนื่องจากอาการหลอดเลือดสมองแตกหรือภาวะเส้นเลือดฝอยในสมองแตกเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยไม่ล่าช้า และหากพบว่ามีภาวะหลอดเลือดสมองแตกแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหายของสมองและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาภายหลัง
การรักษาหลอดเลือดสมองแตก หายได้หรือไม่ ?
อาจมีคำถาม เส้นเลือดในสมองแตก มีโอกาสรอดไหม ? แล้วเมื่อเส้นเลือดในสมองแตกขึ้นมาจะรักษาหายไหม คำตอบก็คือ สามารถทำการรักษาได้ และมีโอกาสรอดชีวิตหากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยวิธีการรักษามี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
- การรักษาด้วยยา
ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกส่วนมากใช้การรักษาแบบประคับประคอง โดยในบางกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าตำแหน่งของก้อนเลือดอยู่ในจุดที่ลึกมากของสมองทำให้ความเสี่ยงการผ่าตัดสูง ดังนั้นในผู้ป่วยที่อาการไม่วิกฤตถึงขั้นเสียชีวิต แพทย์อาจพิจารณารักษาแบบประคับประคองโดยใช้ยาลดความดันเลือดเนื่องจากผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกมักมีภาวะความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยหลัก โดยที่ยาลดความดันเลือดนี้ช่วยลดโอกาสที่ก้อนเลือดขยายปริมาตรเป็นขนาดใหญ่ขึ้น (ที่อาจจำเป็นต้องผ่าตัด) ได้ เมื่อการใช้ยาลดความดันชนิดฉีดหรือหยดทาสามารถควบคุมความดันเลือดได้ดีอย่างสม่ำเสมอแล้วแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานแทนในเวลาต่อมา - การผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยส่วนน้อย การผ่าตัดเป็นขั้นตอนการรักษาที่อาจมีความจำเป็นและถ้าหากประเมินแล้วว่าการผ่าตัดน่าจะมีประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ป่วย แพทย์จะมักพิจารณาผ่าตัดเป็นกรณีเร่งด่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน ทั้งนี้ แม้ว่าการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดสมองแตกอาจช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตในขณะนั้นได้ แต่เนื่องจากก้อนเลือดที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ตำแหน่งที่เกิดเลือดออกที่ตำแหน่งต่างกัน รวมทั้งสภาวะของผู้ป่วยก่อนทำการรักษา เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความพิการทุพพลภาพถาวรแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย การรับทราบข้อมูล ความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นของสภาพผู้ป่วยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาในการหารือแนวทางระหว่างแพทย์ผู้รักษากับตัวผู้ป่วยเองหรือกับญาติผู้ป่วย (กรณีผู้ป่วยหมดสติ) จึงมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนร่วมกัน
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การฟื้นฟูสมรรถภาพยังเป็นส่วนืสำคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นฟูสมรรถภาพสามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของร่างกายและจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากอาการหลอดเลือดสมองแตกได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้น้ำตาลหรือไขมันสูง ควบคุมระดับความดันเลือดให้เหมาะสม
วิธีการป้องกัน หลอดเลือดสมองแตก
วิธีการป้องกันหลอดเลือดสมองแตกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถดูแลตนเองได้ ก่อนเกิดโรคหลอดเลือดจริงเพราะเมื่อเกิดโรคแล้ว ย่อมมีความเสียหายพิการทุพพลภาพที่กระทบต่อการดำรงชีวิตไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสามารถทำได้ไม่ยาก หากใส่ใจและรักในสุขภาพร่างกายของตนเอง รวมไปถึงการตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรู้ถึงอาการของโรคได้อย่างรวดเร็วก็สามารถรักษา และป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการป้องกันซึ่งสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ควบคุมความดันเลือด : ความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง การรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดสมองแตกได้
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล : คอเลสเตอรอลสูงสามารถนำไปสู่การสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตกได้
- เลิกสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่จะทำลายหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดสมองแตก การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งที่ดี สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
- ออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้หัวใจแข็งแรงและลดความดันเลือด การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดสมองแตกได้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ : อาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดประกอบด้วยผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไม่ติดมัน อาหารประเภทนี้สามารถช่วยลดความดันเลือดและระดับคอเลสเตอรอล
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ : การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเพิ่มความดันเลือดและความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง จนนำไปสู่การเกิดหลอดเลือดสมองแตก ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดน้อยลงสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
- จัดการความเครียด : ความเครียดอาจเพิ่มความดันเลือดและความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองแตก การจัดการความเครียดให้อยู่ในสภาวะปกติอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญที่สุดของการป้องกันหลอดเลือดสมองแตก คือการประเมินความเสี่ยงของสุขภาพร่างกาย แต่หากเกิดอาการของโรคขึ้นแล้ว สามารถทำได้ด้วยการรักษาตามอาการเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจส่งผลต่อร่างกายที่หนักขึ้น หรืออาจเสี่ยงถึงแก่ชีวิต การหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนในยุคสมัยนี้ควรตระหนักให้มากขึ้น
ข้อมูลจาก
- ศ. นพ.เอก หังสสูต
- สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- Gen ยัง Active แจกสูตร ‘Infused Water’น้ำหมักผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
- ‘โออาร์’ จับมือ ‘สุกิ โฮลดิ้งส์’พันธมิตรญี่ปุ่น รุกตลาด ‘สุขภาพ-ความงาม’ เต็มตัว
- ‘โออาร์’ เปิดกำไรครึ่งปีแรก 6,260 ล้านบาท พร้อมรุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ สุขภาพ ความงาม
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx