Wellness

สูงวัยต้องใส่ใจ! ‘Gen ยัง Active’ แพลตฟอร์มสุขภาพสำหรับทุกวัย

เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะในวัย 50 ปีขึ้นไป ที่การใช้ชีวิตต่าง ๆ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพร่างกาย ดังนั้น เรื่องของ “สุขภาพ” จึงกลายมาเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องให้ความใส่ใจ เพื่อการใช้ชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรม “ศิริราช Expo 2024” งานนิทรรศการความก้าวหน้าทางการแพทย์ของศิริราชขึ้น ซึ่งภายในงานยังมีการจัดเสวนา “Siriraj x Gen ยัง Active แพลตฟอร์มสุขภาพ สำหรับทุก Gen” โดยมี ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก และ รศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน และสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมพูดคุย

Gen ยัง Active

ศ.นพ.วีรศักดิ์ กล่าวถึงภาวะสูงวัยว่า ร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยลง โดยจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 30-40 ปี ไม่ว่าจะเป็นมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก หรือความจำ ที่เริ่มเสื่อมถอยลง โดยการชะลอความเสื่อมถอยของร่างกายทำได้หลายทาง เช่น สำหรับกล้ามเนื้อ สิ่งที่ช่วยได้คือ การออกกำลังกาย อาหาร และโปรตีน ส่วนกระดูก ต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม การออกกำลังกายบางอย่าง แต่พออายุมากขึ้นก็อาจจะลำบากเล็กน้อย จากเรื่องข้อเข่า ก็ต้องเลือกออกกำลังชนิดที่มีการลงน้ำหนักน้อย

จริง ๆ แล้ว คือ การกลับไปดูในแง่ของอนามัยพื้นฐาน ที่เคยเรียนมาตั้งแต่ประถม หรือมัธยมเลย คือ เรื่องของการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การดูแลในเรื่องจิตใจ เพราะแม้จะไม่ได้เป็นคนที่มีปัญหาอะไรเลย แต่เมื่ออายุมากขึ้น สารบางอย่างเริ่มลดลงตามวัย ต้องพยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ

ดังนั้น การดูแลผู้สูงวัย ควรที่จะมีการสังเกต และให้เวลากับผู้สูงวัยมากขึ้น เพื่อจะได้สังเกตเห็น หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ชวนทำกิจกรรมต่าง ๆ หาความรู้เพิ่มเติม เพื่อ ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ รศ.นพ.สัมมน ระบุ การใช้ชีวิตในกลุ่มผู้สูงวัยยุคปัจจุบันนี้ ต้องมีการหาข้อมูลที่จะไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวในทุกวันนี้ อย่าง เรื่องคลื่นความร้อน ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นฮีตสโตรก ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น มีฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจว่าจะต้องป้องกันอย่างไร ต้องตระหนัก และใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ

Gen ยัง Active

ส่วนเรื่องของฝุ่น PM 2.5 นั้น สามารถเข้าลึกลงไปในถึงในปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง วสมองเสื่อม โรคไต ไข้มันพอกตับ หรือแม้กระทั่งโรคเบาหวาน และสุขภาพผิวหนัง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด ซึ่งปัญหาตอนนี้ คือ มีฝุ่นมากขึ้น ในบางช่วงฤดูกาล ก็มีเรื่องของความกดอากาศ ที่ทำให้ฝุ่นไม่สามารถยกตัวขึ้น

รศ.นพ.สัมมน ย้ำว่า ข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องเตรียมรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม

ทางด้าน รศ.นพ.วินัย กล่าวถึงเรื่องโรคที่กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มผู้สูงวัย อย่าง งูสวัด  ซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งเป็นเชื้อที่ความสามารถในการก่อโรคสูงมาก ซึ่งถ้าคนไม่มีภูมิต้านทาน ถ้าเจอเชื้อโรคตัวนี้ ราว 90% ก็จะเป็นอีสุกอีใส

รศ.นพ.วินัย อธิบายว่า ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้วนั้น ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสขึ้นมา ทำให้เชื้อไปหลบอยู่ในโพรงประสาทด้านหลัง ทำให้ทุกคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก เหมือนกับมีระเบิดเวลาอยู่ในตัว ซึ่งตามปกติแล้ว ภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสนี้จะอยู่ได้โดยเฉลี่ย 50 ปี

เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิต้านทานก็เสื่อมลงด้วย ทำให้เชื้อโรคกำเริบได้ง่าย เมื่ออายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ก็ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคงูสวัดได้ ซึ่งอาการของโรคมักจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ และเมื่อรักษาหาย แม้จะดูเหมือนปกติแล้ว แต่ก็อาจจะเจ็บปวดได้อีก ซึ่งไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้

Gen ยัง Active

รศ.นพ.วินัย บอกด้วยว่า ไทยมีความสามารถในการป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี มีวัคซีนให้ฉีดฟรีหลายโรคด้วยกัน ซึ่งการฉีดวัคซีนเฉพาะโรค มีความจำเป็นสำหรับการเดินทาง โดยวัคซีนบางตัวฉีดครั้งเดียว ก็มีภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต หรือบางตัวก็อาจต้องฉีดกระตุ้นทุก ๆ  10 ปี ซึ่งแต่ละตัวนั้น มีการศึกษามาเป็นอย่างดี จึงไม่ต้องกังวลอะไร

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมดของคนทุกวัย สามารถติดตามได้ผ่านทางเว็บไซต์ Gen ยัง Active  หรือแอดไลน์ @genyoungactive ป้องกันดีกว่ารักษาไม่ทัน โครงการดี ๆ ของภาควิชาเวชศาสตร์การป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo