งานวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย เผยว่าผู้ที่มีรูปแบบการนอนไม่เป็นเวลา อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ตื่น และนอนหลับแบบเป็นเวลา
สำนักข่าวซินหัว รายงานอ้างการเปิดเผยของมหาวิทยาลัยที่ระบุว่า การศึกษานี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าการนอนหลับไม่เป็นเวลาทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่มุ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของ2 สิ่งนี้ โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความสม่ำเสมอในการนอนหลับ กับความเสี่ยงเผชิญภาวะสมองเสื่อมในอนาคต และศึกษาปริมาตรสมองจากการสแกนสมองด้วย
นักวิจัยใช้ข้อมูลจากยูเค ไบโอแบงก์ (UK Biobank) เพื่อศึกษาผู้คนจำนวน 88,094 คน อายุเฉลี่ย 62 ปี โดยใช้อุปกรณ์สวมใส่ข้อมือตรวจวัดดัชนีความสม่ำเสมอการนอนหลับ และติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 7.2 ปี ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วม 480 คนมีภาวะสมองเสื่อม
การศึกษาพบว่าผู้ที่มีรูปแบบการนอนหลับไม่เป็นเวลามากที่สุด มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมสูงที่สุด
แมทธิว เพส รองศาสตราจารย์จากคณะจิตวิทยา และสถาบันเทิร์นเนอร์เพื่อสุขภาพสมอง และสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยระบุว่า ผลการวิจัยเน้นย้ำความสำคัญของการนอนหลับที่สม่ำเสมอ
การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาอาจรบกวนนาฬิกาชีวภาพภายในของคนเรา ที่ควบคุมจังหวะเวลาการทำงานของกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ การเผาผลาญน้ำตาลในเลือด และไขมัน และการควบคุมความดันโลหิต
การหยุดชะงักของจังหวะเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิต เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน เมื่อรวมกันแล้วปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเสียหายของหลอดเลือดและการอักเสบในสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมของระบบประสาทและภาวะสมองเสื่อมที่ตามมา
ดร. สเตฟานี เยียลลูรู ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยาและสถาบันฯ ระบุว่าคนเราต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับเป็นเวลาและสุขภาพมากขึ้น หลายคนอาจยังไม่ทราบความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ เนื่องจากงานวิจัยการนอนหลับส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบระยะเวลาการนอนหลับและผลลัพธ์ด้านสุขภาพ มากกว่ารูปแบบการนอนหลับที่สม่ำเสมอของผู้คน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 5 อาหารตามใจปาก เสี่ยง ‘โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ’
- เช็ก 8 ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุควรรู้!
- โรคสมองและระบบประสาท ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม