Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด ‘วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม’ รอยต่อระหว่าง ‘สยามเก่า-สยามใหม่’

ศุกร์ (สุข) ละวัด พาไปชม “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” วัดประจำรัชกาลที่ 4  ตั้งอยู่ที่ ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่มีขนาดเล็กมาก ด้วยเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 2 งานกับ 98 ตารางวาเท่านั้น

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สร้างอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟใกล้พระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ตามโบราณราชประเพณี ที่จะต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

นอกจากนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มอีกด้วย โดยเหตุที่ให้ตั้งอยู่ใกล้วัง ก็เพื่อสะดวกแก่พระองค์ในการปรึกษาข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของธรรมยุติกนิกาย รวมถึงสะดวกแก่ข้าราชบริพารในการทำบุญ

ดังนั้น ชื่อวัดในระยะแรกตามจารึกหลังพระวิหารหลวงจึงเป็น “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อปี 2411

การสร้างวัดแห่งนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงซื้อที่ดินสวนกาแฟด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากนั้นทรงให้ พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองคุมงาน ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่กระบวนการระหว่างกลาง เพราะในระหว่างการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ที่จะสร้างวัดนั้นต่ำ โดยเฉพาะบริเวณที่จะสร้างพระวิหารหลวง จึงโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นวัด โดยทรงบอกบุญให้ชาวบ้านนำไหกระเทียมไม่ว่าสภาพเป็นเช่นไรมาให้ หรือหากต้องการขายก็ทรงคิดราคาให้ตามสมควร

ที่สำคัญคือ ทรงจัดละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม เป็นเวลา 3 วัน โดยเก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือหากไม่มี ก็สามารถนำไหประเภทอื่นที่ไม่แตกร้าวมาใช้ได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วเมื่อปี 2545 ว่า มีไหกระเทียม รวมถึงตุ่มสามโคกที่อัดทรายเอาไว้เต็ม อยู่ที่ใต้ฐานจริง ๆ

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

พระวิหารหลวงถือเป็นอาคารประธานของวัด ซึ่งใช้เป็นพระอุโบสถของวัดด้วย อาคารหลังนี้ยังถือเป็นอาคารแบบไทยประเพณีที่สวยที่สุดของวัดแห่งนี้ เครื่องบนเป็นเครื่องลำยอง หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขทั้งด้านหน้า และด้านหลัง

หน้าบันประธานทำเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ และพระแสงขรรค์มีช้างเผือกรองรับ ขนาบ 2 ข้างด้วยฉัตรประกอบ ส่วนหน้าบันมุขทำเป็นรูปเดียวกัน แต่ไม่มีช้างเผือกรองรับ ซึ่งตรานี้คือตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

บานประตูของวัดราชประดิษฐ์ แม้จะทำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์เหมือนกับบานหน้าต่าง และประตู แต่ด้านในจะใช้งานประดับมุกแบบญี่ปุ่น โดยช่างจากเมืองนางาซากิ ซึ่งถือเป็นงานช่างชั้นสูงที่หาชมได้ยากมาก

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ ถือเป็นงานที่อยู่บนรอยต่อระหว่าง สยามเก่า และ สยามใหม่ จึงมีการผสมผสานงานจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิม คือเทพชุมนุม แต่เปลี่ยนเทคนิคจากที่แต่เดิมต้องเขียนเรียงแถวบนพื้นหลังสีแดงหรือดำ กลายเป็นเทพชุมนุมที่เหาะอย่างอิสระ ไปบนท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม และเมฆสีขาว

ขณะที่ผนังระหว่างประตูและหน้าต่าง เขียนเรื่องของพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ขึ้นมา ในปี 2431 ซึ่งพระราชพิธีสิบสองเดือน คือ พระราชพิธีต่าง ๆ ที่ทำประจำในแต่ละเดือน เช่น พระราชพิธีตรียัมปวายหรือโล้ชิงช้า และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

เจดีย์ประธานของวัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ ชื่อ “ปาสาณเจดีย์” แปลว่าเจดีย์ศิลา สอดคล้องกับวัสดุที่ใช้สร้างเจดีย์องค์นี้ คือหินอ่อนสีเทา และขาว แบบเดียวกับพระวิหารหลวง ชื่อปาสาณเจดีย์ ยังเป็นชื่อเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างขึ้นเหนือห้องที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเมืองรา

เจดีย์องค์นี้ มีซุ้มเป็นที่ประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสของวัด โดยผู้ปั้นหล่อเป็นนายช่างชาวสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ ร.เวนิง และผู้ที่ประดิษฐานพระรูปนี้ ก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี 2470 โดยบรรจุกล่องพระอัฐิ พระสุพรรณบัฏ จารึกพระนาม และดวงพระชะตาเอาไว้ด้วย

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

วัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ จะมีอาคารที่ผสมผสานศิลปะไทย กับศิลปะตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมด้วย นั่นก็คือ ปราสาทพระบรมรูป หรือปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก ขนาบ 2 ข้างพระวิหารหลวง

แต่ก่อนที่จะเป็นปราสาทขอม 2 หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างปราสาทน้อย หรือปราสาทศิลา ด้วยรูปแบบอาคารทรงไทยประเพณี ขึ้นมาก่อนในตำแหน่งเดียวกันนี้ แต่ว่าเพียงรัชกาลเดียว อาคารคู่นี้ก็ชำรุดผุพังจนบูรณะไม่ได้

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างปราสาทขอมทั้งสองขึ้นแทนที่ สำหรับปราสาทพระไตรปิฎก หรือที่บางครั้งเรียกว่า “ปราสาทหนังสือ” ได้แรงบันดาลใจจากปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยดัดแปลงทรวดทรงรวมไปถึงภาพเล่าเรื่อง ให้เป็นเรื่องพุทธประวัติ ในตอนประสูติ และปรินิพพาน ที่น่าสนใจคือ ภาพพุทธประวัติตอนประสูตินั้น พระนางสิริมหามายา ทรงห่มผ้าส่าหรีแขก ซึ่งหาชมได้ยาก

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ในขณะที่ปราสาทพระบรมรูปหน้าตาคล้ายกับปราสาทพระไตรปิฎก แต่เปลี่ยนส่วนยอดเป็นพรหมพักตร์แทน ส่วนหน้าบันของอาคารหลังนี้ แทนที่จะเล่าเรื่องในพุทธศาสนา กลับเล่าเรื่องของศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนข้างใน มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo