Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด: ส่อง 2 วัดเก่า ถิ่นพระนารายณ์

“ลพบุรี” เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และเป็นที่ตั้งของวัดที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญเป็นจำนวนมาก โดยครั้งนี้ จะพาไปเที่ยวชม 2 วัด ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดลพบุรี คือ วัดเชิงท่า และ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร

ศุกร์ (สุข) ละวัด พาส่อง 2 วัดเก่า ถิ่นพระนารายณ์

วัดเชิงท่า เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดลพบุรีมาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี จะมีเรื่องของหลักฐาน สิ่งของ ที่แสดงเรื่องราวในอดีตมากมายทีเดียว

ศุกร์ (สุข) ละวัด

วันนี้ พามาชม หอโสภณศิลป์  แหล่งรวบรวมสิ่งของเป็นพิพิธภัณฑ์ของ หลวงปู่ถม อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งนอกจากจะได้มาดูของมีค่า และของโบราณ ที่หลวงปู่เก็บสะสมไว้เป็นส่วนตัว ยังจะได้สักการะสรีระสังขารของหลวงปู่ถม ที่ยังไม่เน่าเปื่อย แม้จะมรณภาพไปหลายปีแล้วด้วย

วัดเชิงท่า ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา หลังจากที่หลวงปู่ถมมรณภาพ และได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ค่อยมีคนเข้ามาชมมากเท่าไหร่ เพราะต้องติดต่อนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งเราได้มีโอกาสอันดี ที่ได้มาเยี่ยมชม พร้อมทั้งมีวิทยากรบรรยาย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ดีทีเดียว

วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อยู่ริมแม่น้ำลพบุรีฝั่งตะวันออก สร้างมานานไม่น้อยกว่า 300 ปี กล่าวกันว่าเดิมชื่อ วัดท่าเกวียน ด้วยเป็นท่าของเกวียนลำเลียงสินค้าขนลงมาที่ท่าน้ำในบริเวณวัดแห่งนี้ ก่อนที่จะลำเลียงลงเรือส่งไปยังที่อื่น ๆ

ศุกร์ (สุข) ละวัด

พื้นที่ของวัดเชิงท่าตั้งขวางหน้า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ฝั่งด้านที่หันหน้าสู่แม่น้ำลพบุรีเกือบครึ่งด้าน จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดเชิงท่าน่าจะสร้างก่อนพระราชวัง

ภายในวัดมีอาคารสำคัญ ที่มีความงามสง่าทางศิลปวัฒนธรรม ควรค่าแก่การมาเยือนเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ประธานของวัด กุฏิสงฆ์แบบตึกสองชั้นทรงเก๋งจีน ศาลาตรีมุข อาคารโวทานธรรมสภา หอระฆังและศาลาการเปรียญ ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมแห่งหนึ่ง

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเชิงท่านัก เป็นที่ตั้งของ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร  อารามหลวง ที่ถือเป็นวัดเก่าแก่ และเป็นวัดรามัญนิกาย ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนเพทราชา ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี

ศุกร์ (สุข) ละวัด

จากหลักฐานทราบเพียงว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างวัดนี้ พระราชทานอุทิศถวายเป็นวิสุงคามสีมา ในการทำสังฆกรรมอุปสมบทข้าราชบริพาร ซึ่งแต่เดิมนั้น ชาวบ้านนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดขวิด

ในประกาศเรื่องพระนารายณ์ราชนิเวศน์กล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดพระราชทานนามให้เรียกว่า วัดกระวิศราราม ต่อมาได้รับปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และในปี  2481 พระกิตติญาณมุนี เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกวิศราราม ซึ่งมีความหมายว่า วัดของพระเจ้าแผ่นดิน อันมีที่มาจากคำเล่าขานว่า วัดนี้ เป็นวัดที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยนั้น

พระอุโบสถเดิมมีขนาดย่อมแบบมหาอุด มีประตูเข้าออกทางเดียว เรียกกันว่า โบสถ์มหาอุต มีผนังเจาะเป็นช่องไม่มีหน้าต่าง ศิลปะแบบอยุธยา มีมุขเด็จอยู่ด้านหน้า

ศุกร์ (สุข) ละวัด

รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ต่อออกมา และขยายพัทธสีมาให้ใหญ่กว่าเดิม พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรูปดอกไม้ หลังคาเดิมมุงด้วยกระเบื้องลอนแบบจีน หรือที่เรียกว่า กาบู

ภายในพระอุโบสถ ตกแต่งด้วยภาพเขียนลายประดับเต็มทั่วผนัง และเสาทุกต้น ทั้งยังมีรูปเหมือนพระพุทธวรญาณ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เมื่อครั้งอดีตกาล

ที่สำคัญ วัดนี้มีเจดีย์ทรงกลมบนฐานเหลี่ยมองค์ใหญ่ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถและหมู่กุฏิ ซึ่งเป็นตึกในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีหอพระไตรปิฎกที่งดงาม

ศุกร์ (สุข) ละวัด

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo