Travel

กรีนซีซั่น ‘แม่ฮ่องสอน’ สัมผัสมนต์เสน่ห์ ‘เมืองสามหมอก’

กรีนซีซั่นนี้ หากเพื่อนๆ ชื่นชอบความเขียวขจีของธรรมชาติ ผืนป่า และบรรยากาศเงียบสงบ สำหรับลาการพักร้อน หรือมาพักผ่อนกับคนรู้ใจ บอกเลยว่า “แม่ฮ่องสอน” คือทางเลือกอันดับต้นๆ เลยล่ะ

a1 1

“แม่ฮ่องสอน” เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักเดินทางหลายๆคน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามบริสุทธิ์ ภูเขาเขียวขจีสูงสลับซับซ้อน วัดวาอารามที่มีศิลปะแบบพม่าและไทยใหญ่ที่อ่อนช้อยงดงามแปลกตาผสมผสานกันอย่างลงตัว กำลังรอให้คุณเดินทางฝ่าฟันเส้นทางที่สูงชันลัดเลาะไปตามไหล่เขา ผ่านทางโค้งหลายพันโค้ง เพื่อมาสัมผัสมนต์เสน่ห์นี้ด้วยตาของตัวเอง

วิธีการเดินทางไปแม่ฮ่องสอนนั้น มีให้เลือกหลายวิธี ใครที่เป็นสายแข็ง มั่นใจในฝีมือการขับรถของตัวเองพอสมควร จะขับรถไปเองเลยก็ได้ หรือใครจะเลือกใช้วิธีการเดียวกับเราก็ได้ นั่นคือนั่งเครื่องบินไปลงเชียงใหม่ เที่ยวเชียงใหม่ก่อนสัก 1-2 วัน แล้วค่อยเหมารถตู้รับจ้างจากเชียงใหม่ไปเลย วิธีนี้สะดวกและปลอดภัยที่สุด เพราะคนขับรถในพื้นที่ย่อมชำนาญเส้นทางกว่าเราอยู่แล้ว หรือใครมีงบน้อย จะนั่งรถตู้สาธารณะจากเชียงใหม่ ไปยังแม่ฮ่องสอนเลยก็ได้ ใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ประมาณ 6 ชั่วโมง

a2 1

a3

a4

พิกัดแรกของแม่ฮ่องสอน ที่เราจะไปแวะเที่ยวกันในวันนี้ นั่นคือ “ก๋วยเตี๋ยวลอยฟ้าบ้านจ่าโบ่” เดินทางออกมาจากเชียงใหม่แต่เช้า ก็จะมาถึงบ้านจ่าโบ่ ช่วงเที่ยงๆ พอดี ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ ถือเป็นร้านชื่อดังของแม่ฮ่องสอน ที่ใครๆ ก็อยากมากิน หลายคนตั้งฉายาให้ว่า “ก๋วยเตี๋ยวหลักสิบวิวหลักล้าน” วันนี้เราได้มาเห็นกับตาตัวเองแล้ว เชื่อแล้วว่า ที่นี่คือวิวหลักล้านที่แท้จริง

a5

รสชาติของก๋วยเตี๋ยวที่นี่นั้นก็ถือว่าใช้ได้ แต่วิวที่อยู่เบื้องหน้าเราต่างหาก ที่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำชามนี้ อร่อยขึ้นร้อยเท่าพันทวีจนแทบไม่ต้องปรุงเลยทีเดียว

a7

จากนั้นเรามุ่งหน้าสู่ “สะพานซูตองเป้” หรือที่มีสมญานามว่า “สะพานไม้แห้งศรัทธา” ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ซูตองเป้” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้มายืนอยู่กลางสะพานแล้วอธิษฐานขออะไร ก็จะประสบความสำเร็จ

ที่นี่เป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและการร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุและชาวบ้าน ที่ช่วยกันลงแรงสานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสวนธรรมภูสมะและหมู่บ้านกุงไม้สัก ข้ามผ่านทุ่งนา และแม่น้ำสายเล็ก ๆ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่อีกฝั่งได้ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านกับวัดได้สะดวกยิ่งขึ้น

ช่วงเวลาไฮไลท์ของที่นี่คือช่วงเช้า พระสงฆ์จะเริ่มบิณฑบาตประมาณเวลา 06.00 น. ของทุกวัน โดยจะเดินจากสะพานฝั่งสวนธรรมภูสมะ ข้ามไปยังหมู่บ้าน และจะเดินกลับผ่านมายังสะพานและ กลับไปยังสวนธรรมภูสมะ ประมาณช่วงเวลา 7.00 – 8.00 น.

a8

จากนั้นเรามุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายที่จะไปไหว้พระที่ “วัดจองคำ” และ “วัดจองกลาง” วัดสำคัญของเมืองแม่ฮ่องสอน สองวัดนี้ตั้งอยู่ติดกัน ใช้กำแพงเดียวกัน จนหลายๆคนคิดว่าเป็นวัดเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะแต่ละวัดก็มีศิลปะที่แตกต่างกัน โดยถ้าหากมองมาจากหนองจองคำ วัดจองคำ จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางจะอยู่ทางขวามือ

a9

“วัดจองคำ” ถือเป็นวัดแห่งแรกของแม่ฮ่องสอน อยู่คู่เมืองสามหมอกมานานนับร้อยปี จนได้รับการสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยจากบันทึกทางประวัติศาสตร์เก่าเล่าไว้ว่า วัดจองคำสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2370 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองคนแรกของแม่ฮ่องสอน

a10

a11 1

วัดนี้มีไฮไลท์อยู่ที่ “พระพุทธรูปหลวงพ่อโต” สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบพม่า หน้าตักกว้าง 4.8 เมตร สูง 5.6 เมตร สวยงามและมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงของชาวแม่ฮ่องสอน

a12

a13

“วัดจองกลาง” ที่นี่ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมผลงานศิลปะแบบไทใหญ่ – พม่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีไฮไลท์ก็คือ พระเจดีย์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ – พม่า เจดีย์ประธานมีสีขาวแต่งลายปูนปั้นสีทอง บนยอดประดับฉัตรสามชั้น ฐานองค์พระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยม มีมุขสี่ด้าน ที่มุมแต่ละด้านจัดสร้างเป็นองค์พระเจดีย์บริวารขนาดเล็ก พร้อมประดับสิงห์ปูนปั้นไว้ทั้งสี่มุม

a14

ไม่ไกลกันนั้น เป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุดอยกองมู” ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองสามหมอก ตั้งอยู่บนภูเขาด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เดิมทีวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดปลายดอย” แต่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพระธาตุดอยกองมู” ในภายหลัง (กองมูในภาษาไทใหญ่ แปลว่า “พระเจดีย์”)

a15

a16

a17

ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุดอยกองมูเป็นศิลปะแบบ “ไทใหญ่ – พม่า” ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัดทางภาคเหนือ ดูแปลกตา แต่สวยงามมาก เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนดอย วิวทิวทัศน์จึงสวยงามมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน มองเห็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอน และมองเห็นสนามบินแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน

a18

ด้านหลังวัดพระธาตุดอยกองมู ยังเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟเล็กๆ แต่น่ารักอีกร้านหนึ่ง ที่มีชื่อเท่ๆว่า “ร้านกาแฟก่อนตะวันลับแนวเหลี่ยมภูผา” ด้วยนะ

a19

ที่นี่เป็นร้านกาแฟที่จัดว่าวิวสวยงามอลังการสุดๆ มองเห็นวิวภูเขาสูงสลับซับซ้อน จัดว่าเป็นร้านกาแฟหลักสิบวิวหลักล้านที่แท้จริงอีกแห่งหนึ่ง ชั่วโมงนี้บอกเลยว่ารสชาติของกาแฟที่เราสั่งมาดื่มนั้นไม่สำคัญอะไรอีกแล้ว เพราะวิวที่อยู่ข้างหน้าเรานั้น สวยงามจนแทบจะทำให้เราลืมทุกสิ่งไปชั่วขณะเลยทีเดียว

จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เราออกเดินทางอีกครั้ง สู่ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2” หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “ปางอุ๋ง” นั่นเอง

a20

เรามาถึงปางอุ๋งในช่วงเย็น เห็นว่าครึ้มฟ้าครึ้มฝน เลยเลือกพักที่โฮมสเตย์กันดีกว่า เราเลือกพักกันที่ “จิ่งโฮมสเตย์” โฮมสเตย์เล็กๆ แต่น่ารัก อยู่ติดกับทางเข้าปางอุ๋งเลย ที่นอนสะดวกสบายในแบบโฮมสเตย์ มีห้องน้ำในตัว มีระบบน้ำอุ่นด้วย ลานจอดรถกว้างขวาง แถมยังติดกับร้านอาหารตามสั่งในหมู่บ้านด้วย หมดห่วงเรื่องการหามื้อเย็นไปได้เลย

a21

เช้าวันใหม่ เราเดินเข้าไปในปางอุ๋งท่ามกลางสายหมอกหนาที่ปกคลุมไปทั่วทั้งบริเวณ ปางอุ๋ง มีสภาพภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน จนถูกขนานนามว่าสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย มีอ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบตรงกลางที่ล้อมรอบไปด้วยป่าสนสองใบ สนสามใบและดอกไม้เมืองหนาว ช่วงเช้าๆ จะเห็นหมอกหนาลอยอยู่เรี่ยผืนน้ำ มีหงส์ขาวและหงส์ดำพระราชทานเป็นฉากหลัง อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี

a22

a25

แต่คงจะเป็นโชคร้ายของพวกเรา เพราะช่วงที่เราไปที่ปางอุ๋งนั้น ที่นั่นประสบปัญหาภัยแล้ง จะต้องปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้านด้านล่าง ปางอุ๋งที่เราไปนั้น น้ำจึงแห้งจนแทบไม่เหลือ แต่หมอกนั้นยังถือว่ามาตามนัด หมอกสวยงามท่ามกลางป่าสนในฤดูฝน ที่ไม่มีใครมากางเต็นท์ที่นี่เลย ก็ดูเงียบสงบไปอีกแบบต่างจากช่วงฤดูหนาวที่จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว

ไม่เป็นไร เอาไว้ไปเที่ยวใหม่อีกครั้ง สักวันเราจะต้องกลับมาแก้มือที่นี่ให้ได้

a26

หลังจากอกหักจากปางอุ๋ง เรามุ่งหน้าสู่ “บ้านรักไทย” อีกหนึ่งไฮไลท์ของแม่ฮ่องสอน ที่ใครๆ หลายคนใฝ่ฝัน ว่าจะเดินทางมาพักผ่อนในโฮมสเตย์ในไร่ชาของบ้านรักไทยที่นี่ให้ได้

a27

ที่นี่เป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนาน อดีตทหารจีนคณะชาติ กองพล 93ก๊กมินตั๋ง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล กว่า 1,776 เมตร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกชาพันธุ์ดีและพืชเมืองหนาว ทิวทัศน์ของ หมู่บ้านโอบล้อมไปด้วยทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีทะเลสาบกลางหมู่บ้าน บ้านเรือนที่ปลูกก็เป็นแบบจีน ดูสวยงามแปลกตา มีมุมให้ถ่ายรูปสวยๆ เพียบ ทั้งไร่ชา กำแพงเมืองจีน หรือจะใส่ชุดจีนโบราณถ่ายรูปชิคๆก็ดูน่าสนุกไปอีกแบบ

q1

q2

q3

พอช่วงสายท้องเริ่มหิว ก็ได้เวลาของอาหารอร่อยๆ ถ้ามาถึงบ้านรักไทย เมนูต้องห้ามพลาด ที่ต้องลองชิมให้ได้นั่นคือ “ขาหมูหมั่นโถว” ต้นตำรับสูตรยูนนาน

a1 2

a2 2

เราเลือกไปฝากท้องที่ “ร้านอาหารลีไวน์รักไทย” ร้านอาหารชื่อดังของบ้านรักไทย เราสั่งขาหมูหมั่นโถว ข้าวผัดยูนนาน และเห็ดหอมอบซีอิ๊วมากินกัน ดูเป็นเมนูง่ายๆ แต่อร่อย ขาหมูเนื้อนิ่ม เปื่อย อร่อย ข้าวผัดยูนนานก็รสชาติดี กลมกล่อม บวกกับวิวสวยๆของร้านที่ติดกับทะเลสาบ ช่วยให้อาหารมื้อนี้อร่อยขึ้นอีกเป็นกอง

a3 1

a4 1

และถ้ามีโอกาสมาเที่ยวที่บ้านรักไทย สิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดนั่นคือ การเลือกซื้อชาอบแห้งเป็นของฝาก มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งชาเขียว ชาอู่หลง ชามะลิ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อของฝากอื่นๆ อย่างเช่น บ๊วยจีน ลูกท้อ ผลไม้ดอง เสื้อผ้า รองเท้าจีน ได้อีกด้วย

a5 1

หลังจากอิ่มเอมใจกับการเดินเล่นถ่ายรูปไปทั่วหมู่บ้านรักไทยที่สวยงาม เราจำเป็นต้องตัดใจจากที่นี่แล้วเดินทางกลับกันอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “เชียงใหม่” โดยใช้เส้นทางสายเดิม ผ่านภูเขาที่สูงชันและคดเคี้ยว โดยเรามาแวะพักกันที่ “อำเภอปาย” ก่อนเดินทางกลับ

a6 1
ช่วงเย็นเราแวะที่ “วัดพระธาตุแม่เย็น” วัดสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองปาย เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปายมายาวนาน บริเวณวัดเงียบสงบ ร่มรื่น มีไฮไลท์อยู่ที่พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ อยู่บนภูเขามองเห็นได้ชัดจากตัว อ.ปาย ที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของเมืองปายและชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกด้วย

จากวัดพระธาตุแม่เย็น เรามุ่งหน้าไปที่ “โป่งร้อนท่าปาย” เพื่อไปพักผ่อนนอนแช่น้ำแร่ร้อนแบบชิลล์ๆ เพื่อคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

โป่งน้ำร้อนท่าปาย เป็นโป่งน้ำร้อนธรรมชาติอยู่ท่ามกลางภูเขาสลับซับซ้อน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ไม่ไกลจากตัวเมืองปาย มีบ่อใหญ่สองบ่อ เป็นบ่อกลางแจ้งสามารถลงแช่ตัวได้ นอกนั้นเป็นน้ำผุดหลายจุด อุณหภูมิที่จุดกำเนิดความร้อนประมาณ 80 – 100 องศาเซลเซียส สามารถต้มไข่ให้สุกได้ และอุณหภูมิลดลงเรื่อยๆ ตามระยะทางที่น้ำไหลไป

a7 1

หลังจากแช่น้ำแร่ร้อนจนชื่นใจแล้ว เราจึงอาบน้ำแต่งตัวกันอีกครั้งเพื่อเดินทางกลับสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยสถานที่สุดท้ายของแม่ฮ่องสอน ที่เราจะแวะเที่ยวกันนั้น นั่นคือ “สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย”

สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย ตั้งอยู่ริมถนนสาย 1095 ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองปาย เปรียบเสมือนประตูสู่อำเภอปาย สะพานถูกสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำและลำเลียงเสบียงและอาวุธเข้าไปยังประเทศพม่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อำเภอปายจึงกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง โดยหลงเหลือไว้เพียงแต่สะพานแห่งนี้ว่า “สะพานประวัติศาสตร์” ในอดีตสะพานแห่งนี้ถูกสร้างด้วยไม้ และสร้างขึ้นใหม่โดยใช้สะพานเหล็กที่รื้อจากสะพานนวรัฐในเมืองเชียงใหม่มาแทน

a8 1

ด้วยความสวยงามและคลาสสิคของ สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย จึงกลายมาเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเที่ยวปาย จะต้องแวะมาถ่ายภาพเช็คอินกัน จนกลายเป็นแลนด์มาร์คของปายที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

จบทริปแม่ฮ่องสอนกันแบบสุขใจ ไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่เคยเมาโค้งเหมือนที่นี่ จบทริปนี้ รวมๆแล้ว เราน่าจะพิชิตไปหลายพันโค้งเลยทีเดียว แต่ความสุขที่เราได้รับกลับมานั้นมากมาย ถือว่าคุ้มค่า และถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

แล้วเราจะคิดถึงเธอ จนกว่าจะได้พบกันใหม่นะ “แม่ฮ่องสอน”

#amazingไทยเท่
เรื่อง : Trip Travel Gang

Avatar photo