วัดช่างเหล็ก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองชักพระ ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ วัดปางเหล็ก สร้างขึ้นเมื่อปี 2323
อย่างไรก็ดี มีการสันนิษฐานว่า วัดน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่านั้น ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปหินทราย หรือหลวงพ่อดำ และตำแหน่งของเขตพุทธาวาสของวัด ที่ตั้งที่อยู่ห่างจากฝั่งคลองชักพระ ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมมาก เชื่อว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ก่อนที่จะได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น รูปทรงอุโบสถที่อาจเก่าถึงรัชกาลที่ 1 และเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2 องค์ที่หน้าอุโบสถ
ชื่อของวัดนั้นมาจากอาชีพของชาวบ้านรอบ ๆ วัด ที่มีอาชีพตีเหล็ก ช่างเหล็ก มีที่มาจากพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนของคนไทย ตีเหล็กเป็นอาวุธ เช่น หอก มีด ดาบ ไปสู้รบกับพม่าในกรุงศรีอยุธยา
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ช่างเหล็กเหล่านี้บางส่วนได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมคลองชักพระโดยไม่ได้ย้ายไปที่อื่น ส่วนอีกคำบอกเล่าหนึ่งกล่าวคล้ายกันว่า ที่เรียกชุมชนนี้ว่า ช่างเหล็ก เนื่องจากเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว เคยมีหมู่บ้านช่างเหล็กตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามคลองชักพระ จนถึงคลองบางกอกน้อย ช่างเหล็กเหล่านี้จะตีเหล็กจำพวกเครื่องมือทำสวนต่าง ๆ
ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง กล่าวว่า เป็นความผิดเพี้ยนทางด้านพยัญชนะ ก่อนหน้านี้เคยเรียกกันว่าชุมชนปางเหล็ก แต่ต่อมาได้มีการเรียกผิดเพี้ยนไปเป็นช่างเหล็ก โดยไม่อาจทราบได้ว่ามีการเรียกผิดเพี้ยนไปตั้งแต่เมื่อใด
อุโบสถของวัดช่างเหล็กสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2497 มีขนาด 7 ห้อง ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 2 ช่อง หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปเทวดาทรงครุฑ ด้านหลังเป็นเทวดาทรงหนุมาน ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นรูปพุทธประวัติฝีมือช่างร่วมสมัย ใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทาดำ มีกนกเอวเป็นเศียรนาค ยอดเป็นมงกุฎครอบ
วิหารอยู่ข้างอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย หน้าบันเป็นภาพพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ หรือ หลวงพ่อปราการ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก ผู้คนนิยมมาบนบานศาลกล่าวหลวงพ่อดำ โดยเฉพาะไม่ให้ติดทหาร มีการแก้บนคือไข่ต้ม และลิเก วิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี)
เจดีย์ทรงเครื่องย่อมุม 2 องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่ลานด้านหน้าวิหาร และอุโบสถ และมีเจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ขนาดใกล้เคียงกันอยู่ด้านหน้าวัด ด้านริมคลองบางกอกน้อย อีกองค์หนึ่งอยู่ใกล้ปากคลองบางระมาด มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ศุกร์ (สุข) ละวัด ไหว้พระสวย ดูของเก่า ที่ ‘วัดสุทัศนาราม’ อุบลราชธานี
- ศุกร์ (สุข) ละวัด พาชมวัดป่าสัก เชียงแสน
- ศุกร์ (สุข) ละวัด แวะเที่ยว ‘วัดกุฏิบางเค็ม’ ชมความงาม ‘อุโบสถไม้สัก-ภาพฝาไม้แกะสลัก’
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg