วัดประดู่ ตั้งอยู่ที่บ้านบางกระรี้ หมู่ที่ 2 ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดแห่งนี้ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวปี 2320 ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมายังวัดประดู่ และเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัด
ต่อมาในปี 2543 ได้มีการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาต่าง ๆ เช่น พระแท่นบรรทม ตาลปัตรนามาภิไธยย่อ จปร. และตาลปัตรนารายณ์ทรงครุฑพร้อมปอกหลังสำหรับคลุม
พิพิธภัณฑ์อีกแห่งในวัดคือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สร้างขึ้นเมื่อปี 2548 ลักษณะเป็นทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาปะกน เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยมวัดประดู่
สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในวัดประดู่ก็คือ ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู หรือ หอศิลป์ สร้างเมื่อปี 2548 เป็นหอศิลป์แสดงขั้นตอนการทำ และการฝึกทำหัวโขนและเศียรครู
สำหรับพระอุโบสถของวัดนั้น ภายในมี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง อยู่ตรงกลางด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเขียนต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมีภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประธานในการตรัสรู้พร้อมอัครสาวกเบื้องซ้าย และขวา บริเวณด้านข้างหน้าต่างทั้งซ้ายและขวา มีเทวดาหุ่นปั้นมากมายแสดงความยินดี
พระประธานในอุโบสถเป็น พระพุทธรูปโบราณสมัยอยุธยา ศิลปะแบบล้านช้าง ชาวบ้านเรียกว่าพระพุทธเจ้าใหญ่ หรือพระพุทธชินสีห์บารมีแสน
ด้านนอกอุโบสถคือ ศาลาการเปรียญ มีภาพวาดบนผนังเพดานแบบดั้งเดิมสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งวาดด้วยสีฝุ่นดินสอพอง เช่น ภาพชุมนุมเทวดา ภาพหนุมานแผลงฤทธิ์เหินเวหา ภาพฤๅษี ภาพคนธรรพ์ ภาพหัวล้านชนกัน และภาพพุทธประวัติ ด้านหลังอุโบสถเป็นศาลาข้างน้ำ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ศุกร์ (สุข) ละวัด ไหว้พระสวย ดูของเก่า ที่ ‘วัดสุทัศนาราม’ อุบลราชธานี
- ศุกร์ (สุข) ละวัด พาชมวัดป่าสัก เชียงแสน
- ศุกร์ (สุข) ละวัด แวะเที่ยว ‘วัดกุฏิบางเค็ม’ ชมความงาม ‘อุโบสถไม้สัก-ภาพฝาไม้แกะสลัก’
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg