Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด ‘วัดพระแก้ว’ อารามหลวงชั้นตรี คู่เมืองเชียงราย

วัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือวัดป่าเยียะ เนื่องจากภายในวัดเดิมมีไม้เยียะขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม เนื้อแข็งและเหนียว นิยมนำไปทำหน้าไม้หรือคันธนู

วัดแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มาตั้งแต่ปี 2521 เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย

wat

แม้จะไม่ปรากฏประวัติการสร้าง แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย อนุชาของพญากือนา ได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมา กับพระรตนปฏิมาจากกำแพงเพชรมายังเมืองเชียงราย เมื่อพญากือนาสวรรคต พญาแสนเมืองมา โอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบแทน ท้าวมหาพรหมไม่พอใจจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ

ภายหลังพญาแสนเมืองมานำกองทัพสู้รบจับท้าวมหาพรหมได้ แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมามายังเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระรตนปฏิมา เนื่องจากท้าวมหาพรหมได้นำปูนขาวคลุกด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย และทรายละเอียดพอกไว้ ลงรักปิดทอง แล้วก่อพระเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงที่วัดป่าเยียะ บรรจุพระรตนปฏิมาที่พอกแล้วไว้ในเรือนเจดีย์ จึงไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

S 16080923

เมื่อปี 1977 เจดีย์วัดป่าเยียะถล่มลงมา จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง นำไปไว้ในวิหารของวัดป่าเยียะ ต่อมาปูนบริเวณพระกรรณเกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ จึงทราบว่าเป็นพระรตนปฏิมา ท้าวเจ็ด เจ้าเมืองเชียงรายได้กราบทูลให้พญาสามฝั่งแกนทรงทราบ โปรดให้อัญเชิญพระรตนปฏิมาจากวัดป่าเยียะ เมืองเชียงราย ไปยังเมืองเชียงใหม่โดยกระบวนช้าง

แต่เมื่อถึงแจ้สัก (ชยสัก) ช้างทรงพระรตนปฏิมาไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ จึงเสี่ยงทายจับฉลากได้ชื่อเมืองนครลำปาง จึงอัญเชิญพระรตนปฏิมาไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จากเหตุการณ์ค้นพบพระรตนปฏิมา (พระแก้วมรกต) ทำให้วัดป่าเยียะได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดพระแก้ว

S 16080920

วัดพระแก้วคงมีสถานะเป็นวัดสำคัญมาตลอดทุกสมัย ช่วงสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนา ทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่ปี 2347 จนเมื่อฟื้นฟูเมืองเชียงราย ในปี 2386 จึงมีการบูรณะวัดสำคัญต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจำนวนไพร่พล และสถานะทางสังคมยุคนั้น

ต่อมาในปี 2433 มีการสร้างวิหารวัดพระแก้วขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง (หลังเก่า) และวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบ และก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน

พระอุโบสถ เป็นพระวิหารทรงล้านนา มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี 2433

S 16080917

พระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือราวพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุ (คาง) เป็นปมใหญ่ และชัดมาก น้ำหนักประมาณ 1,200 กิโลกรัม นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปะปาละที่ใหญ่ และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

พระเจ้าล้านทอง เดิมเป็นพระประธานของวัดล้านทอง อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง) ไปประดิษฐานที่วัดงามเมือง ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง

S 16080921

ปี  2504 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) ขณะเป็นพระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมือง มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน

พระสาวก 2 องค์ คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ สำริด ปางสมาธิ ศิลปะล้านนา เดิมประดิษฐานที่วัดงามเมือง อัญเชิญมาพร้อมกับพระเจ้าล้านทอง ใต้ฐานทั้ง 2 มีจารึกระบุว่าสร้างเมื่อปี 2269 ผู้สร้างคือมังพละสแพก (ส่างกอละ) เจ้าเมืองเชียงราย โมยหวาน (เมียวหวุ่น) เมืองเชียงแสน และพระนางบุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญาเจ้า มเหสีของเจ้าฟ้าลักที เจ้าฟ้าเชียงแสน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เพื่ออุทิศให้กับเจ้าฟ้ายอดงำเมือง (พระยอดงำเมือง) เจ้าฟ้าเชียงแสน พระโอรสของพระนาง

S 16080914

หอพระหยกเป็นอาคาร ค.ส.ล. ทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย” แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

โฮงหลวงแสงแก้ว เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ออกแบบโดย นภดล อิงคะวณิช สถาปนิกชาวเชียงราย เป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 23.25 เมตร สูงสองชั้น มีคุณแม่อมรา มุนิกานนท์ (แสงแก้ว) เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ เช่นพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย

S 16080927

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo