Food

แนะรัฐ งัดมาตรการคุม ‘มาตรฐานกะทิ’ แก้ปัญหามะพร้าวราคาถูก

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิปลอดภัย เตือนผู้บริโภคต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหากบริโภคอาหารสะดวกซื้อ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิเพราะเป็นอาหารคู่ครัวไทย และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ากะทิสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดไม่ใช่กะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562

กะทิ

ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป 3 แบบ คือ กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และ กะทิคั้นสด จากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมัน วัตถุกันเสีย (ซอร์บิก, เบนโซอิก) และสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง

สำหรับแบรนด์กะทิสำเร็จรูปที่นำมาตรวจสอบครั้งนี้ได้แก่ 1) กะทิแท้ 100% ชาวเกาะ, 2) กะทิสูตรหัวกะทิ ชาวเกาะ, 3) กะทิแท้ พร้าวหอม, 4) กะทิ 100% อัมพวา, 5) กะทิแท้ 100% รอยไทย, 6) กะทิ 100% เรียลไทย, 7) กะทิ เอโร่, 8) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี, 9) ร้านกะทิสด จากตลาดคลองเตย, 10) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) และ 11) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย

ข้อสังเกตจากผลวิเคราะห์น้ำกะทิ 11 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณสารกันเสีย (กรดเบนโซอิก : ปริมาณที่อนุญาตให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชั่น 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีการตรวจพบใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) 776.62 มก./กก., 2) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย 804.24 มก./กก. 3) กะทิสดจากร้านในตลาดคลองเตย ในปริมาณ 325.09 มก./กก. และ 4) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี (AROY-D) ที่ระบุในฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่พบปริมาณสารกันเสีย 2.19 มก./กก. ซึ่งไม่เกินปริมาณที่อนุญาต

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ
ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากะทิสดที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดคลองเตยนั้น ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกปริมาณ 325.09 มก./กก. สำหรับกรดไขมัน จากผลการวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันพบว่า ปริมาณกรดไขมันที่พบในน้ำกะทิ จากตลาดคลองเตย มีปริมาณสูงที่สุดในทุกชนิดกรดไขมันที่ตรวจพบ โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุดคือ Lauric acid ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำกะทิตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า อาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปนั้น ผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะความสะดวกนั้นมากับพร้อมความเสี่ยงและการได้รับความอร่อยที่ลดลง อีกทั้งทุกวันนี้กระบวนการผลิตอาหารมักใช้วัตถุเจือปนอาหาร และใช้กระบวนการผ่านความร้อนที่ทำให้ความหอมและรสอร่อยของอาหารลดลง เช่น กะทิ เมื่อนำมาผ่านความร้อนบรรจุลงกล่องหรือขวด จะมีคุณภาพลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บอาหาร

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ จึงเสนอให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เห็นถึงความสำคัญของอาหารประเภทกะทิ เร่งออกมาตรฐานคุณภาพของกะทิในบ้านเรา เพื่อทำให้กะทิของไทยมีคุณภาพดี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวภายในประเทศในการผลิตอีกด้วย

สารี
สารี อ๋องสมหวัง

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องกินข้าวจากดินในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคไทยก็เช่นเดียวกัน เวลาเราใช้น้ำกะทิหรือกินแกงกะทิ เราต้องการข้อมูลที่จะบอกเราว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์กล่องนี้ทำมาจากมะพร้าวที่มาจากไหน ในประเทศ หรือต่างประเทศใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดการขนส่ง ลดการนำเข้า ลดการใช้พลังงานในการบริโภค โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้บริโภคที่ดี บริโภคอย่างยั่งยืน

ในส่วนของฉลากบรรจุภัณฑ์ของกะทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรให้ผู้ผลิตระบุด้วยว่าใช้มะพร้าวจากในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อระบุแหล่งที่มาของอาหารและเพื่อให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงสร้างทางเลือกสำหรับผู้บริโภคด้วย

ขณะที่ราคามะพร้าวที่ผู้ประกอบการรับซื้อจากชาวสวนนั้น หากยอมรับในคุณภาพของมะพร้าวในประเทศ ทุกฝ่ายต่างต้องการราคาที่เป็นธรรม การรับซื้อตรงจากเกษตรกร น่าจะทำให้เกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้น การกำหนดราคาสินค้าจึงต้องมีราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เกษตรกรขายสินค้าในราคาถูก รัฐจึงควรมีการแก้ปัญหา ควรมีข้อมูลปริมาณผลผลิตในประเทศที่ชัดเจน ทันสมัย เปิดเผย

นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง หรือรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรให้ชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือมุ่งไปสู่การเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปด้วย

พงษ์ศักดิ์
พงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์

นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากการพูดคุยของตัวแทนเครือข่ายมะพร้าวกับผู้ประกอบการทำให้ได้รับทราบว่ากะทิกล่อง 100% ในประเทศไทยมีการผสมน้ำมันแบะแซผสมลงไปด้วย ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายที่อ้างว่า กะทิ 100% นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กะทิ 100% ใช่หรือไม่ จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อทำการทดสอบ

“บ้านเรามีมะพร้าวจำนวนมากและมีมะพร้าวคุณภาพดี แต่ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้บริโภคมะพร้าวที่มีคุณภาพดี กลับต้องไปบริโภคมะพร้าวนำเข้า ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ได้ นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการทำกะทิจากมะพร้าวที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับกะทิที่มีคุณภาพ มีน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่า แล้วราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยจำกัดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

Avatar photo