Entertainment

สิ้นพิธีกรชั้นครู ‘ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ’ บิดา ‘เหมี่ยว ปวันรัตน์’ ติดโควิด-19 เชื้อลงปอด

สิ้นพิธีกรชั้นครู ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ คุณพ่อของ เหมี่ยว ปวันรัตน์ หลังติดโควิด-19 รักษาตัวในรพ.ร่วมสัปดาห์ ก่อนเชื้อลงปอดเสียชีวิตในวัย 87 ปี ส่วนครอบครัวคนอื่น ๆ ไม่มีใครติดเชื้อ

นับเป็นความสูญเสียอีกครั้งของวงการบันเทิง กับการจากไปของพิธีกรชั้นครู ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ วัย 87 ปี บิดาของพิธีกรและนักแสดงสาวชื่อดัง เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเชื้อลงปอดเสียชีวิต

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ

สิ้นพิธีกรชั้นครู ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ บิดา เหมี่ยว ปวันรัตน์ หลังติดโควิด-19 เชื้อลงปอด

ทางด้าน เหมี่ยว ปวันรัตน์ เปิดใจเล่าถึงการจากไปของคุณพ่อผ่านทางทีมข่าวของ ดาราภาพยนตร์ ระบุว่า “คุณพ่อติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวตามขั้นตอนที่โรงพยาบาลมาประมาณเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว แต่ด้วยว่าคุณพ่อมีโรคประจำตัว และอายุมากแล้ว คืออายุ 87 ปีแล้ว ทำให้การรักษาไม่สำเร็จ เชื้อแพร่กระจายลงปอด และทำให้ท่านเสียชีวิต เมื่อคืนที่ผ่านมา”

“โดยวันนี้ 19 กุมภาพันธ์ 2565 (เนื่องจากเสียชีวิตด้วยโควิด การจัดการพิธีศพจึงต้องเป็นขั้นตอนตามระเบียบสาธารณะสุข) ครอบครัวจะทำพิธีฌาปนกิจใน เวลา 13.00 น ณ วัดภานุรังสี ในส่วนของครอบครัว คนอื่น ๆ ไม่มีใครติดเชื้อค่ะ”

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ

ประวัติ : ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เป็นคนบันเทิงที่เป็นทั้งนักร้อง พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักแสดง นักพากย์ มีผลงานที่น่าจดจำ คือเป็นพิธีกรรายการ “นาทีทอง” และ “ประตูดวง” รายการที่มีผู้ชมสูงสุดทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง สาขาจิตรกรรม รุ่นเดียวกับสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2499 และเรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และกำธร สุวรรณปิยะศิริ พร้อมกับรับราชการกระทรวงศึกษาธิการ และสมัครเป็นนักร้องกับชาลี อินทรวิจิตร เข้ารับราชการเป็นครูอยู่ 5 ปี จึงลาออกมาเป็นโฆษก ที่สถานีวิทยุ วปถ.1 (วิทยุทหารสื่อสารประจำถิ่น) กรมการทหารสื่อสาร และสมัครสอบเข้าเป็นผู้ดำเนินรายการ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7 ขาวดำในอดีต)เมื่อ พ.ศ. 2507 และไปเป็นผู้ช่วยพิธีกรรายการป็อปท็อป ทางช่อง 5 ซึ่งมี พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็นพิธีกร

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ

ธรรมรัตน์ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินรายการทางช่อง 7 เป็นอันดับหนึ่งด้วยน้ำเสียงทุ้มเป็นเอกลักษณ์และมีท่าทางเป็นธรรมชาติ มีหน้าที่ทั้งเป็นผู้พากย์หนัง พากย์รายการมวย พูดโฆษณาสินค้า เป็นโฆษกการตัดสินรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นนักร้อง และจัดรายการพิพิธภัณฑ์ดารา และรายการเพลงสุนทราภรณ์

เมื่อ พ.ศ. 2517 ธรรมรัตน์ ได้เป็นพิธีกรรายการเกมโชว์ “นาทีทอง” ช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ และ “ประตูดวง” ช่วงเย็นวันอาทิตย์ แทนอาคม มกรานนท์ พิธีกรคนเดิมที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองรายการเป็นรายการที่มียอดผู้ชมสูงสุด และสร้างชื่อเสียงให้กับธรรมรัตน์เป็นอย่างมาก

ธรรมรัตน์ ลาออกจากช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2528 เพื่อไปทำงานการเมืองกับกลุ่มรวมพลังของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ลงสมัคร ส.ก.เขตลาดพร้าว 2 สมัย โดยในสมัยที่สองได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภา กทม.คนที่ 1

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ

ธรรมรัตน์ ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขานักพากย์ยอดเยี่ยม จากผลงานพากย์หนังชุด บิ๊กซินีม่า ทางช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2537 และรับรางวัลพิธีกรโทรทัศน์ยอดเยี่ยม รางวัลเมขลาในปี พ.ศ. 2538 จากรายการ 20 คำถาม จากนั้นจึงเลิกผลิตรายการโทรทัศน์และเลิกเล่นการเมือง หันไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จบการศึกษาในปี 2541 จากนั้นจึงออกตระเวนเดินสายร้องเพลง และจัดรายการวิทยุภาคภาษาไทยที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2543 ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ใน กทม.ด้วย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ช่วงหลัง ธรรมรัตน์ เดินทางกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ชื่อ เอเชียน วิชั่น แชนแนล และยังรับงานพากย์ภาพยนตร์ และร้องเพลง จนสุขภาพมีปัญหาจึงห่างหายไปจากวงการ

ด้านครอบครัว ธรรมรัตน์ เป็นบิดาของ เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ นักแสดงและพิธีกร

4 ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ2

4 ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ3

4 ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ6

ผลงานการแสดง

  • เทวดาเดินดิน (2519)
  • เมืองขอทาน (ขี้กลากคอนกรีต) (2521)
  • อะไรกันวะ (2521)
  • อีแต๋น ไอเลิฟยู (2527)
  • นักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ (2527)
  • ตุ๊กตาทองหลังโลงศพ (2530)
  • ล่าระเบิดเมือง (2542)
  • สุริโยไท (2544)

ผลงานละครโทรทัศน์

  • ชาวเขื่อน ช่อง 7 (2524)
  • ปมรักนวลฉวี ช่องไอทีวี (2546)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2533: เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
  • พ.ศ. 2535: เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo