Entertainment

กวาง นางเอกคู่กรรม โพสต์อาลัย อาร์ม เผย 7 ปีที่เจอหน้า ทมยันตี สิ่งที่ไม่กล้าบอกคุณหญิง

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เจ้าของบทประพันธ์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกาชื่อดังเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวแจ้งว่า นอนหลับไปเฉย ๆ ด้วยอายุ 84 ปี

นับเป็นข่าวเศร้าของวงการนักเขียน สำหรับการจากไปของ “ทมยันตี” หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555 มีผลงานที่รู้จักกันดี เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา, ใบไม้ที่ปลิดปลิว

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง และเป็นศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตด้วยอายุ 84 ปี

ล่าสุด (13 ก.ย.) นักแสดงสาวชื่อดัง กวาง-กมลชนก เขมะโยธิน” ผู้เคยสวมบทบาทนางเอกในละคร จากผลงานการประพันธ์ของ ทมยันตี ถึง 4 เรื่อง คือ คู่กรรม, ค่าของคน, หัวใจเถื่อน และ พ่อครัวหัวป่าก์ โดยเฉพาะบทบาท อังศุมาลิน ในเรื่องคู่กรรม ประกบคู่ “เบิร์ด-ธงไชย แมค อินไตย์” เมื่อปี 2533 ที่สร้างปรากฏการณ์เรตติ้งถล่มทลายในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี

โดย กวาง กมลชนก ได้โพสต์อินสตาแกรม @kwang.kamolchanok แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ทมยันตี ระบุว่า “พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติมิตรของป้าอี๊ด คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ “ทมยันตี” นักเขียนชื่อดังของเมืองไทยที่ประพันธ์เรื่อง “คู่กรรม” “ค่าของคน” “หัวใจเถื่อน” และ “พ่อครัวหัวป่าก์” ที่กวางโชคดีได้สวมบทบาทนางเอกของท่านทั้ง 4 เรื่องค่ะ

ด้วยความอาลัยรักป้าอี๊ด ทมยันตี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปูชนียบุคคลของไทย ที่กวางเคารพรักยิ่งค่ะ”

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี

ทางด้าน “อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์” สามีของนักแสดงสาวชื่อดัง “น้ำฝน-พัชรินทร์ ศรีวสุภิรมย์” ซึ่งได้มีโอกาสใกล้ชิดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมากับโครงการต่าง ๆ ก็ได้โพสต์อินสตาแกรม @armpipat เผยข้อความสุดอาลัยต่อการจากไป

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี

“ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับคุณหญิงทุกปี อย่างต่อเนื่องกันมาถึง 7 ปี กับโครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ทุกครั้งที่ได้เจอ ทุกปีที่ได้คุยกับคุณหญิง ผมไม่กล้าบอกคุณหญิงว่า …ผมอ่านวรรณกรรมของคุณหญิงหลายเรื่องมาก …

ด้วยความที่ว่า แต่ก่อนอยู่ต่างจังหวัด เวลาไปเช่าการ์ตูนอ่าน พี่สาวก็จะเช่านิยายของนักเขียนดัง ๆ มาอ่านด้วยกัน พอผมอ่านการ์ตูนจบ ว่าง ๆ ก็…เอาวะ หยิบมาอ่านหน่อยสิ ทำไม เล่มก็หนา ๆ สนุกตรงไหน ?!?

อ่านไปอ่านมา กลายเป็นผมรอคอยที่จะอ่านเรื่องต่าง ๆ ต่อจากพี่สาว จนถึงขั้นบางครั้ง รีบชิงอ่านก่อน เพราะถ้าเริ่มแล้วมันยาวววว 555

จะเป็นเรื่อง ดั่งดวงหฤทัย คู่กรรม ทวิภพ เงา รอยอินทร์ … ฯลฯ คือ แบบว่า แฟนคลับเลยละครับ #ทมยันตี

และสุดท้าย ผมจำได้ว่าผมได้บอกสิ่งที่ผมตั้งใจบางอย่างกับคุณหญิง และเฝ้ารอที่จะทำตามฝันนั้นนะครับ..

ขอบพระคุณมาก ๆ นะครับ ที่สร้างสรรค์ผลงานดี ๆ มากมาย ที่ทำให้คนไทย และเด็กตัวเล็ก ๆ คนนึงอย่างผม ได้มีวรรณกรรมดี ๆ อ่าน

สุดท้ายนี้ผมนึกถึงคำคม หรือที่เขาเรียกกันแบบคนสมัยก่อนว่า #วรรคทอง ของนิยายแต่ละเรื่อง…

ประโยคจากบทละครมากมายที่ตรึงอยู่ในความทรงจำ… “โปรดไปรอ ที่ตรงโน้นบนท้องฟ้า ท่ามกลางดวงดาราในสวรรค์ ข้ามขอบฟ้าดาวระยับนับอนันต์ จะไปหาคุณบนนั้น ฉันสัญญา…..” จากบทประพันธ์ เรื่อง #คู่กรรม

ขอร่วมอาลัยรักกับการจากไป ของยอดนักเขียนแห่งยุค #ทมยันตี เพื่อน ๆ พี่ ๆ นึกถึงวรรณกรรมเรื่องใดของคุณหญิงบ้างครับ

ด้วยรักและอาลัย

อาร์ม พิพัฒน์ & น้ำฝน พัชรินทร์

ปล. สิ่งที่ผมเรียนคุณหญิงไว้ วันหนึ่งผมจะทำให้ได้นะครับ”

คนบันเทิงโพสต์อาลัย ทมยนตี

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ระบุว่า ทมยันตี มีชื่อจริงว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อี๊ด  เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง

วิมลจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย

ทมยันตี

เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง เธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สาม เพื่อนของเธอได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน

ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

วิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

วิมล ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปีถัดมา วิมลได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

หลังจากเลิกเป็นครูแล้ว วิมลสมรสกับสมัคร กล่าเสถียร ต่อมาได้หย่าร้างกัน และสมรสครั้งที่สองกับร้อยตำรวจโทศรีวิทย์ เจียมเจริญ มีบุตรชายด้วยกันสามคน เธอใช้ชีวิตสมรสกับสามีระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เกิดปัญหาอีก ทำให้มีคดีฟ้องร้องกันราวปี พ.ศ. 2523 เพราะปัญหาความแตกร้าวในชีวิตคู่ เธอถูกฟ้องหย่าและถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่น ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “คดีทมยันตี” หรือ “คดีชู้รักบันลือโลก” โดยสามีของเธอได้ฟ้องศาลและขอให้ศาลบังคับให้เธอหย่า พร้อมเรียกค่าเสียหายจากเธอเป็นจำนวนมาก

ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินว่าเธอมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่นจริง ทำให้เธอแพ้คดี จึงต้องแบ่งสินสมรสกับฝ่ายสามี แม้เธอจะได้ร้องขอให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้บุตรทั้งสามคนก็ตาม แต่ทรัพย์สินทั้งหมดก็ถูกศาลแบ่งครึ่งตามกฎหมายและถูกขายทอดตลาด เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว วุฒิสภาได้ลงมติให้เธอต้องออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 วิมลได้ฟ้องพันตำรวจเอกศรีวิทย์ เจียมเจริญ อดีตสามี เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นคดีความยืดเยื้อกันไปถึงสามศาลอีกครั้งหนึ่ง

วิมลนิยมใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) และนักเขียนสตรีรุ่นเก่าอย่าง ร. จันทพิมพะ

นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง

วิมลมีนามปากกา 6 ชื่อ ได้แก่

  1. โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “กุหลาบราชินี” ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย วิมลกล่าวว่านามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ นามปากกานี้ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง “ในฝัน”
  2. ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า “ลักษณวดี” มีความหมายว่า “นางผู้มีลักษณะดี , นางผู้งามเลิศ” วิมลนำชื่อ “ลักษณวดี” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ”
  3. กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า “กนกเรขา” แปลว่า “อักษรอันวิจิตร” วิมลนำชื่อ “กนกเรขา” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “กนกนคร” ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา
  4. ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี) แปลว่า “นางผู้มีความอดทนอดกลั้น” เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “พระนลคำหลวง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ วิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง “รอยมลทิน” เป็นเรื่องแรก
  5. มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ “สนธยากาล” ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ คุณหญิงวิมลได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย”
  6. วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของคุณหญิงวิมล ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย” โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

แม้ไม่ปรากฏว่างานเขียนของเธอเคยได้รับรางวัลสำคัญ แต่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเธอถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นจำนวนมาก เหตุผลที่ผลงานของเธอไม่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใด ๆ นั้น เป็นเพราะเธอไม่ประสงค์ให้ส่งผลงานเธอไปประกวด และปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย” ปัจจุบันเธอเริ่มลงมือเขียนเรื่อง ‘จอมศาสดา’ ซึ่งจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เธอจะเขียนแล้ว จากนั้นเธอจะหันหน้าเข้าสู่ความสงบใต้ร่มพระศาสนา

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย armpipat (@armpipat)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo