Lifestyle

แนะยึด 3 หลัก ป้องกันโรคอุจจาระร่วงช่วงน้ำท่วม

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรง ช่วงน้ำท่วม รับประทานอาหาร ยึด 3 หลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคอุจจาระร่วง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือมีน้ำป่าไหลหลาก ขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำ น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ส่งผลให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียวใน 1 วัน อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (มีอาการอุจจาระร่วงน้อยกว่า 7 วัน) และอุจจาระร่วงเรื้อรัง (มีอาการอุจจาระร่วงติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป)

โรคอุจจาระร่วง

สถานการณ์โรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 – 11 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วย 472,520 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 714.08 ต่อแสนประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง เท่ากับ 1:1.5 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 0 – 4 ปี (16.45%) >65 ปี (15.09%) และ 25 – 34 ปี (13.68%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ  มุกดาหาร อำนาจเจริญ เชียงราย มหาสารคาม และระยอง

ช่วงน้ำท่วม ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุก ใหม่ อาหารค้างมื้อต้องอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารต้องสด สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร ภายหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก สำหรับการดูแลผู้ป่วย อุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง จิบแทนน้ำบ่อยๆ (ห้ามดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย (ORT) เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดสูง ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น กระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น)

โรคอุจจาระร่วง

ทั้งนี้สามารถเตรียมสารละลายเกลือแร่ได้เองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม (ประมาณ 750 ซีซี) ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคตกค้างอยู่ในร่างกาย หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาหารปรุงสุกที่บริจาคช่วงน้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่ปรุงจากกะทิ ควรเลือกเมนูอาหารแห้ง เช่น หมูทอด ไก่ทอด ปลาทอด น้ำพริกแห้ง เป็นต้น ไม่ควรราดกับข้าวลงบนข้าวโดยตรง ควรแยกกับข้าวต่างหาก ทั้งนี้ระยะเวลาหลังปรุงสุกจนถึงเวลาบริโภคไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง หากอาหารมีกลิ่น สี รูป รสเปลี่ยนไปไม่ควรรับประทาน ไม่ถ่ายอุจจาระและไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ เพื่อลดความสกปรก ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในแต่ละวัน (ขยะเปียก) ทิ้งในถุงมัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงนำโรค แล้วรวบรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

โรคอุจจาระร่วง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo