Lifestyle

ศุกร์ (สุข) ละวัด ‘วัดนายโรง’ ต้นกำเนิดศรัทธา จากนายโรงละคร

วัดนายโรง ถนนบรมราชชนนี ซอย 15 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นวัดขนาดเล็ก ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี 2403 เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สวยงาม ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย และเป็นวัดที่มีความสงบร่มรื่น

ประวัติความเป็นมาของวัดไม่มีหลักฐาน หรือรายละเอียดที่ชัดเจนแน่นอนว่า ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เป็นแต่เพียงได้สืบทราบจากคําบอกเล่าว่า นายกรับ ซึ่งเป็นเจ้าของคณะละครนอก ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 3-4 เป็นผู้สร้าง

วัดนายโรง

นายกรับ เป็นทั้งครูสอน และนายโรงละคร (เจ้าของโรงละคร) รับงานแสดงละครจนมีฐานะร่ำรวย จึงนำเงินที่ได้จากการแสดงละครมาสร้างวัดใกล้ ๆ บ้านขึ้น และได้ตั้งชื่อตามคำเรียกของชาวบ้านให้ชื่อว่า “วัดนายโรง”

wat

แต่เดิม วัดนายโรง มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน บ้างก็เรียกว่า “วัดเจ้ากรับ” หรือ “วัดละครเจ้ากรับ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดนายโรงใหม่ว่า “วัดสัมมัชชผล” แต่ประชาชนในท้องถิ่นมักจะเรียกว่า วัดนอก เป็นการเรียกคู่กันกับ วัดใน (วัดบางบําหรุ) ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ชิดกัน หรือบางทีก็เรียกว่า “วัดปากคลอง” เพราะตั้งอยู่ตรงปากคลองบางบําหรุ

วัดนายโรง

ประวัติท่านเจ้ากรับผู้สร้างวัดนายโรงนั้น เกิดเมื่อปี 2349 ตรงกับปีขาล ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ชุมชนหลังวัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรนายถิน และนางกุ เดิมมีชื่อเรียกว่า “กลับ”

มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อนางกุตั้งครรภ์ จวนจะครบกำหนดคลอด นางกุ พร้อมด้วยลูกชายคนโตไปขายขนมทางเรือด้วยกัน ขณะพายเรือไปตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรือพายที่นั่งมาล่ม ลูกชายจมน้ำเสียชีวิตบริเวณหน้าวัดระฆังโฆสิตาราม นางกุเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก

วัดนายโรง

จนกระทั่งวันหนึ่งนางกุ ได้พายเรือไปขายขนมตามปกติ ได้พบกับหญิงชาวมอญคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านเวทย์มนต์คาถา จอดเรืออยู่ นางกุจึงได้เล่าความทุกข์จากการสูญเสียบุตรคนโตให้หญิงชาวมอญฟัง จนในที่สุดหญิงชาวมอญคนนั้น เกิดความสงสาร จึงรับอาสาทำพิธี เพื่อขอให้บุตรชายของนางกุที่เสียชีวิตไปกลับคืนชาติมาเกิดใหม่

เมื่อนางกุตั้งครรภ์ และคลอดบุตรออกมาเป็นชาย จึงตั้งชื่อว่า “กลับ” หมายถึง บุคคลผู้ตกน้ำแล้วกลับชาติมาเกิดใหม่ เมื่อนายกลับโตขึ้น ได้ฝึกละครกับคณะละครของครูทองอยู่ ซึ่งเป็นคณะละครนอกอันลือชื่อในสมัยนั้น โดยได้เล่นเป็นตัวเอกในเรื่องอิเหนา ต่อมาได้ย้ายไปเล่นกับคณะครูบุญยัง ซึ่งเป็นละครนอกที่มีชื่อเช่นกัน

เมื่อครูบุญยังเสียชีวิต ผู้แสดงละครเริ่มแยกวง ไปคนละทิศละทาง เจ้ากรับจึงพยายามรวบรวมตัวละครขึ้นมาใหม่ และตั้งเป็นคณะละครนอกของตัวเอง โดยทำหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้า และผู้แสดงนำหรือ นายโรง

วัดนายโรง

เจ้ากรับ ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่บริเวณย่านบางบำหรุ พร้อมกับได้สรรหาผู้แสดงหน้าใหม่มาฝึกเพิ่มเติม จนเป็นคณะละครนอกโรงใหญ่ขึ้น โดยพยายามรักษารูปแบบและมาตรฐานการแสดงละครแบบเดิมของครูทั้งสองเอาไว้ คณะละครนอกของเจ้ากรับ แสดงได้ดี มีชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับของคนในย่านบางบำหรุ

วัดนายโรง เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 156 ปี มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ วิหาร พระพุทธเจดีย์สารีริกธาตุ มณฑปหลวงปู่รอด และเรือนท่านเจ้ากลับ

อุโบสถ และวิหาร รูปทรงเป็นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีความโดดเด่น ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม วาดโดยช่างฝีมือชั้นครู

วัดนายโรง

วัดนายโรง

พื้นที่บริเวณเหนือกรอบหน้าต่างอุโบสถ ปั้นเป็นชฎาพระ ส่วนในวิหาร ปั้นเป็นกระบังหน้า และหูกระต่ายขี้รัก ซึ่งเป็นเครื่องสวมหัวของเสนาผู้ไหญ่ฝ่ายไทย อันเป็นเครื่องสวมหัวของตัวละครนอก ขณะที่ ผนังกำแพงแก้วด้านใน ปั้นเป็นภาพฤษีดัดตน โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอุโบสถวัดนายโรง เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี 2520

วัดนายโรง

วัดนายโรง

สำหรับพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า “พระพุทธสัพพัญญู” ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม และมีลักษณะเฉพาะ ส่วนในวิหาร มีพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ที่เก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ ชื่อว่า “พระพุทธไสยาสน์”

ภายในวัด ยังมี “พระพุทธเจดีย์สารีริกธาตุ” เป็นมณฑป หรือเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประมุขสงฆ์สูงสุด อมรปุรนิกาย วัดไทยทีปฑุตมาราม กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ได้มอบให้ทางวัด นำมาประดิษฐานเป็นการถาวร  เมื่อปี 2556 ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ นักโบราณคดี ได้ขุดพบที่กรุงกบิลพัสดุ์เก่า เมื่อปี 2440

วัดนายโรง

ในอดีตวัดนายโรง เคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ด้านวิทยาคมและวัตถุมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบี้ยแก้ และลูกอมชานหมาก และปัจจุบัน ภายในวัด ยังมี “มณฑปหลวงปู่รอด” เป็นที่ตั้งรูปเหมือนหลวงปู่รอด หีบทองทึบ และอัฐิของหลวงปู่รอด

ทั้งนี้ หลวงปู่รอดเป็นพระเถระที่สำคัญองค์หนึ่งในย่านคลองบางกอกน้อย ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และมีเกียรติคุณเป็นพิเศษในทางพุทธาคม และเวทย์วิทยาคม

หลวงปู่รอด เป็นองค์ปฐมนามแห่งเบี้ยแก้ ท่านได้สร้างเบี้ยแก้ขึ้น เป็นสำนักแรก ถือว่าเป็นเครื่องรางอมตะ จนมีคำกล่าวว่า หมากดี ต้องวัดหนัง เบี้ยขลัง ต้องวัดนายโรง

วัดนายโรง

เบี้ยแก้หลวงปู่รอด เป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความที่นิยมสูงสุดในปัจจุบัน จัดเป็นเครื่องรางสารพัดดี เชื่อกันว่า มีพุทธานุภาพเข้มขลัง ใช้สำหรับแก้และป้องกันคุณไสย ภูตผี ปีศาจ สัตว์ที่มีพิษ และเป็นเครื่องรางเมตตามหานิยม

วัดนายโรง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo