Lifestyle

21 มิถุนายน 2565 วันครีษมายัน เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

21 มิถุนายน 2565 “วันครีษมายัน” เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบ วันนี้ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความระบุว่า สวัสดีวันครีษมายัน (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

วันครีษมายัน

วันครีษมายัน

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เป็นวัน “ครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน คำว่า “Stice” หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice จึงหมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ

แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ และจะหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน จากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนลงมาทางใต้ ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงทำให้มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกใต้

วันครีษมายัน

ดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้า 12 ชั่วโมง 56 นาที

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที

ใน 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน-วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน-วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต-วันที่มีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

วันครีษมายัน

ปรากฏการณ์ถัดไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่ “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2565 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ขอบคุณ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK