“ไวรัสตับอักเสบบี” อันตรายกว่าที่คุณคิด ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 350 ล้านคน ติดได้อย่างไร รักษาได้หรือไม่ อ่านที่นี่!
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 350 ล้านคน และกว่า 260 ล้านคน หรือประมาณ 75% อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ดังนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อาฟริกา รวมทั้งประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่มีโรคไวรัสตับอักเสบบีชุกชุมมาก โดยประชากรประมาณ 3-6% มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแสดงว่าประชากรประมาณ 2-4 ล้านคน มีเชื้อไวรัสบีที่พร้อมจะแพร่และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้อื่น
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจไม่มีอาการหรือมีอาการของโรคตับอักเสบฉับพลันแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาและตัวเหลือง หรือมีอาการรุนแรง ตับโต จนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และหายภายใน 2 เดือน แต่มีผู้ที่ติดเชื้อ 5-10% ไม่หายสนิท เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งในอีก 10 ถึง 20 ปีต่อมา อาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในวัยแรกเกิดมักไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มนี้ 90% จะกลายเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีมากในเลือด นอกจากนี้ยังพบได้ในสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น น้ำตา น้ำมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกจากช่องคลอด น้ำคร่ำ เลือด ประจําเดือน ดังนั้นการสัมผัสเลือด เช่น การได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด เข็มฉีดยา การฝังเข็มและเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนเลือดของผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และยังพบว่าแม้เลือดจะมีปริมาณน้อย 1 ในหมื่นถึง 1 ในล้านของซีซี (0.0001 – 0.000001 ml) ก็ยังสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อทางไหน
- การสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง
- จากการได้รับเลือด
- ทางเพศสัมพันธ์
- จากแม่สู่ลูกขณะคลอด
- ภายในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ
โรคตับอักเสบจากไวรัสบี เสี่ยงเป็น “มะเร็งตับ”
พบว่าโอกาสเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี จะมีประมาณ 0.49% ต่อปี และสูงเป็น 2-5% ต่อปี ในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งในคนไทยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติประมาณ 35-400 เท่า ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ป่วยตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี ติดตามไป 15 ปี มีโอกาสเกิดมะเร็งตับสูงถึง 27%
ถ้าแม่เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี จะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร?
- ในประเทศไทยพบว่า มารดาเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ทารกจะมีโอกาสติดโรคจากมารดาได้ประมาณร้อยละ 40-90 ทารกเพศชายที่ติดเชื้อ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นโรคตับสูงกว่าทารกเพศหญิงที่ติดเชื้อ แต่ในทารกเพศหญิงที่ติดเชื้อก็จะเติบโตเป็นมารดาที่เป็นพาหะต่อไป การติดเชื้อของทารกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอด
- การป้องกันในทารกแรกเกิดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตัดวงจรดังกล่าว และลดความชุกชุมของไวรัสตับอักเสบบีลงได้ จึงควรตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในผู้ตั้งครรภ์ทุกราย โดยการตรวจหา HBsAg ในเลือด
- พบว่าไวรัสตับอักเสบบีสามารถผ่านทางน้ำนมได้ และจะผ่านมากขึ้นถ้าหัวนมมารดามีแผล จึงมีปัญหาว่า ทารกกินนมมารดาได้หรือไม่? จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีความชุกชุมของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงนั้น การติดเชื้อในทารกที่กินนมมารดาและนมผสมไม่แตกต่างกัน และเนื่องจากนมแม่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก จึงยังแนะนําให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ยกเว้นมารดามีแผลที่หัวนมหรือลูกขบกัดหัวนมแม่
พาหะของโรคคืออะไร?
- คือผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการตับอักเสบ บุคคลที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
คําแนะนําสําหรับผู้เป็นพาหะ
- บํารุงร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอัลฟาท็อกซิน เช่น ถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น
- งดสุรา และสิ่งที่มีผลต่อตับ โดยเฉพาะไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งรวมถึงยาบํารุง วิตามินบางชนิด หรือสมุนไพร โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- งดบริจาคเลือด รวมถึงน้ำเชื้ออสุจิ
- งดการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของที่ปนเปื้อนเลือดได้ เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน
- ออกกําลังกายและทํางานได้ตามปกติ เพียงงดกีฬาหรือการทํางานที่หักโหมเกินไป
- แนะนําให้ผู้ที่ยังไม่มีภูมิกันโรคที่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นพาหะฉีดวัคซีน
- ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้
- เมื่อมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปี ควรพบแพทย์เพื่อทําการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
การรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัสบี
- กลุ่มพาหะกลุ่มนี้ไม่มีการอักเสบของตับ แต่เนื่องจากมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ จึงควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นระยะ
- กลุ่มที่มีอาการติดเชื้อเฉียบพลัน ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการตัว ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่อ อาหาร แนะนําให้รับประทานอาหารครบทุก หมู่ อาจแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร้อยละ 85-90 มักหาย และมีภูมิคุ้มกัน ส่วนอีกร้อยละ 5-10 จะไม่หายและกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรังต่อไป
- กลุ่มที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง คือค่าเอนไซม์ในตับผิดปกตินานติดต่อกันเกิน 6 เดือน กลุ่มนี้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็ง และมะเร็งตับได้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษา
ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ยาที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย คือ อินเตอเฟอรอน (Interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด และยารับประทาน ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ประสิทธิภาพของยาจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วย เพศ จํานวนเชื้อไวรัส รวมถึงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย ผลของการรักษาสามารถทําให้ HBsAg หายไป เกิด AntiHBe ร่วมกับลดการอักเสบของตับ แสดงว่าผู้ป่วยหายจากโรคได้ประมาณ 40-60% แต่การรักษามีผลข้างเคียง และต้องใช้เวลานาน ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ เพื่อพิจารณาให้การรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก www.samitivejchinatown.com
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ผลการศึกษาพบ ‘ยาไวรัสตับอักเสบซี’ มีฤทธิ์รักษาโควิด-19
- ไวรัสตับอักเสบบี ต้นเหตุ มะเร็งตับ ทำเสียชีวิตอันดับ 1 จากโรคมะเร็ง
- ผู้ปกครองควรรู้ อาการ ‘ตับอักเสบเฉียบพลัน’ ในเด็ก สาเหตุ การรักษา