Lifestyle

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดห้วยตะโก ไหว้พระเก่า วัดสวย ที่นครชัยศรี

ศุกร์ (สุข) ละวัด วัดห้วยตะโก ไหว้พระเก่า วัดสวย ที่นครชัยศรี เป็นวัดเก่าแก่ร่วม 223 ปี น่าจะสร้างในสมัยอู่ทอง ดูจากลวดลายของใบเสมาหินทรายแดงแกะสลัก ที่อยู่รอบอุโบสถหลังเก่าของวัด

วัดห้วยตะโก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นวัดโบราณเก่าแก่ ที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่บริเวณวัดงดงาม มีจัดโซนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมะด้วย จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบและ ข้อมูลของกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2342 แต่จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ ที่พบในวัดสันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างในสมัยอู่ทอง โดยดูจากลวดลายของใบเสมาหินทรายแดงแกะสลักที่อยู่รอบอุโบสถหลังเก่า วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วัดห้วยตะโก

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดห้วยตะโก ไหว้พระเก่า วัดสวย ที่นครชัยศรี

หลักฐานที่พบยังมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรจำนวน 1 องค์ อยู่ในอิริยาบถประทับยืนบนฐานบัว ลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ จากประวัติกล่าวว่า อัญเชิญมาจากวัดโคกมะขาม (ร้าง) เดิมน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม    ในพุทธศิลปะแบบทวารวดี แต่ได้ชำรุดไปและคงเหลือเพียงบางส่วน จึงมีการต่อเติมในภายหลังทั้งพระเศียร พระกร และส่วนฐานพระ ปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในนาม หลวงพ่อหิน อยู่ในวิหาร เป็นวิหารที่เก่าแก่ชาวตำบลพะเนียด ให้ความเคารพนับถือมาก ตำบลพะเนียด ในอดีตเรียกกันว่า บ้านเพนียด บริเวณนี้เป็น โรงฝึกหัดช้างป่า จากที่เคยมีนิสัยดุร้าย จะถูกฝึกให้กลายเป็นช้างที่เชื่องและพร้อมนำมาใช้งานได้

เมื่อครั้งสุนทรภู่เดินทางมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แต่งนิราศพระประธมขึ้นเพื่อบรรยายการเดินทาง เมื่อผ่านมายังบริเวณบ้านเพนียด ได้จอดเรือแวะพักผ่อน และได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไว้ในนิราศพระประธมว่า…

วัดห้วยตะโก

วัดห้วยตะโก

ถึงถิ่นฐานบ้านเพนียดเป็นเนินสูง ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง

เหตุเพราะนางช้างต่อไปล่อลวง พลายทั้งปวงจึงต้องถูกมาผูกโรง

โอ้อกเพื่อนเหมือนหนึ่งชายที่หมายมาด แสนสวาทหวังงามมาตามโขลง

ต้องติดบ่วงห่วงรักชักชะโลง เสียดายโป่งป่าเขาคิดเศร้าใจ

ข้อมูลจาก : ป้ายในวัดห้วยตะโก “แหล่งท่องเที่ยวตามรอยนิราศพระประธม

วัดห้วยตะโก

พระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ กตปุญโญ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ท่านมีความสนใจศิลปะเขมร จึงมีแนวคิดที่จะผสมผสานรูปแบบศิลปะดังกล่าวมาไว้ในวัด โดยเฉพาะอุโบสถหลังใหม่นี้ ได้แนวคิดมาจากบรรณาลัยของปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากนี้ ยังมีความคิดอยากที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย จึงได้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ที่ให้ความรู้ อาทิ เตาเผาสร้างอาชีพ  เป็นมุมที่จัดเป็นสถานที่ผลิตอิฐเพื่อนำมาก่อสร้างโบสถ์องค์ปัจจุบัน มุมวาดลายไทย

วัดห้วยตะโก

สิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจภายในวัด พระอุโบสถ หลังเก่าของวัด รูปทรงอาคารก็เป็นทรงยอดนิยมสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินตอนต้นละครับ เรียบ ๆ ง่าย ๆ มีประตูหน้าและหลังฝั่งละ 2 ประตู ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโบสถ์ใหม่  จะอยู่ในรั้วของโรงเรียนเดินข้ามถนนตามป้ายเข้าทางหน้าโรงเรียน ในพระอุโบสถเก่ามีพระประธานอายุ 600-700 ปี ชื่อว่า “หลวงพ่อเหม” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แกะจากหินทรายแดงทั้งองค์ แต่ปัจจุบันองค์ท่านเป็นสีทองตามรูป (เหม แปลว่า ทอง)

วัดห้วยตะโก

“วิหารหลวงพ่อหิน” พระพุทธศิลามุนี หลวงพ่อหิน เป็นพระพุทธรูปอีกองค์ ที่ชาวบ้านแถบนั้นนับถือกันมาก ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อหิน เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี แกะจากหินเขียว ตามตำนานมีผู้เฒ่าฝันว่ามีพระจมน้ำอยู่ลงไปงมกันก็ไม่เจอ จนมาวันหนึ่งไปเจออยู่ที่ท่าน้ำโดยบังเอิญ จึงได้อัญเชิญท่านขึ้นมาจากน้ำเป็นพระพุทธรูปที่ยังแกะไม่เสร็จ อดีตเจ้าอาวาส อัญเชิญขึ้นท่านก็ขึ้นมาไว้พระอุโบสถหลังเก่า ปัจจุบันอยู่ในวิหารหลวงพ่อหิน ตามที่เห็นในปัจจุบัน

วัดห้วยตะโก

“พระอุโบสถหลังใหม่”เป็นอาคารรูปทรงศิลปะแนวเขมร ท่านเจ้าอาวาสท่านได้แนวคิดมาจากศิลปะของปราสาทหินพนมรุ้ง

พระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ชื่อว่า “หลวงพ่อประธานพร” เป็นปางทรงนั่ง พระอุโบสถนี้ก็เป็นอาคารในศาสนาพุทธที่ดูงดงามไปอีกแบบที่มาของคำว่า “ห้วยตะโก” จากที่พนักงานทางวัดเล่าให้ฟังว่า ที่นี่ไม่ได้มีต้นตะโกเยอะ หรืออะไรที่เกี่ยวกับต้นตะโกเลย จริงๆ แล้วจะชื่อว่า “ห้วยตะกั่ว” แต่เนื่องจากสมัยก่อนมีเรือบรรทุกตะกั่วมาล่มที่บริเวณแถวนี้ ชาวบ้านเรียก “ห้วยตะกั่ว” เรียกกันไปเรียกกันมา เลยเพี้ยนกลายเป็น “ห้วยตะโก” มาจนถึงทุกวันนี้

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo