Lifestyle

เช็คค่าโซเดียมก่อนกิน ภัยเงียบแอบแฝง ในอาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส เสี่ยงโรค NCDS

เปิดผลสำรวจค่าโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดโรค NCDS แนะผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนซื้อ พร้อมวอนหน่วยงานและผู้ประกอบการควบคุมค่าโซเดียม

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น เนื่องจากสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่เร่งรีบต้องแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน

shutterstock 2084553151

อีกทั้งสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป กลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะมีขั้นตอนเตรียมไม่ยุ่งยาก ประหยัดเวลา รสชาติอร่อย แต่สิ่งที่ต้องควรระวังมากที่สุดคือปริมาณโซเดียมที่แอบแฝงมากับผลิตภัณฑ์ด้วย

ทั้งนี้ จากผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ประจำปี 2564 พบว่า ในซองผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ (แบบเต็มและแบบย่อ) และฉลากโภชนาการแบบ GDA ที่มีข้อมูลแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ข้อมูลในฉลากโภชนาการกับฉลาก GDA นั้นไม่ตรงกัน ทั้งยังพบผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่วยอีกด้วย

ผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้

ประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ประเภท ซุป มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 170 – 810 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

shutterstock 1540948157

ผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้

ประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 130-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)

ประเภท น้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 2 ช้อนชา)

ประเภท ผงปรุงรส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 430-1,910 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนชา)

ประเภท เนย ชีส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 45-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)

ดังนั้น อยากจะขอเน้นย้ำให้ผู้บริโภคหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจังก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เนื่องจากทุกวันนี้พบว่าคนไทยเป็นโรค NCDs ในจำนวนที่สูงมาก

ตัวอย่างของโรค NCDs ได้แก่

  • โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็งต่าง ๆ
  • โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคตับแข็ง
  • โรคสมองเสื่อม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo