Lifestyle

รู้ทันโรค ‘หัวใจกำเริบเฉียบพลัน’ สังเกตอาการต่อไปนี้ พบแพทย์ทันที ลดเสี่ยงเสียชีวิต

สถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน สังเกตอาการดังต่อไปนี้ ต้องพบแพทย์ทันที หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน

โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน

สำหรับอาการของโรค ได้แก่ เจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม โดยพบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็น ผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่อย่างไรก็ดี อาการหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาได้

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน

สาเหตุของโรค เกิดจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว จากการมีคราบไขมัน (Plaque) และเมื่อเกิดการปริแตกของผนังด้านในหลอดเลือดบริเวณนั้น ทำให้มีลิ่มเลือดมาจับตัวเป็นก้อน จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และถ้ามีการเต้นหัวใจผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างชนิดร้ายแรง  อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตฉับพลันได้

shutterstock 618341738

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ยังรู้สึกตัวดี ต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เรียกว่าระบบช่องทางด่วน (fast track) โดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้น และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง เพื่อรับการรักษาทันที

ขณะที่การรักษา จะให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจ เพื่อเปิดหลอดเลือด ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง (golden period) 120 นาทีในการเปิดหลอดเลือดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋มให้รีบมาพบแพทย์ทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo