Lifestyle

‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ ภัยร้ายที่หลายคนคาดไม่ถึง

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลก กำลังเร่งฉีด “วัคซีนป้องกันโควิด-19” อยู่นั้น ข่าวที่มักจะขึ้นมาให้เห็นประจำคือ “ผลข้างเคียง” ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็มีมากน้อยแตกต่างกันไป 

แต่ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจกันอย่างมาก คือ การเกิดภาวะ “ลิ่มเลือดอุดตัน” ที่ทำให้ในบางราย ถึงขั้นเสียชีวิต และหลายชาติต้องออกมาประกาศเตือน หรือระงับการฉีดวัคซีนต้องสงสัยนั้น ๆ

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้คนจำนวนมาก เริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับอาการ “ลิ่มเลือดอุดตัน” เพื่อหาความชัดเจนของอาการนี้ ทั้งเรื่องสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคนี้  ความรุนแรงของโรค ขั้นตอน หรือวิธีการรักษา และการดูแลตนเองย่างไร ไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ขึ้นมา

ลิ่มเลือดอุดตัน

ทำความรู้จักลิ่มเลือดอุดตัน 

โดยปกติแล้วในหลอดเลือดของคนเรา จะมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง ไหลเวียนอยู่ โดยมีผนังหลอดเลือดเป็นเหมือนท่อลำเลียง แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดบาดแผล เลือดจะเกิดการแข็งตัว

ในร่างกายจะมีสารโปรตีนที่ช่วยห้ามการแข็งตัวของเลือดอยู่ด้วย ดังนั้น หากโปรตีนในร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ สารห้ามการแข็งตัวของเลือดทำงานน้อยลง เลือดก็จะไหลเวียนผิดปกติตามไปด้วย จนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมาได้ ซึ่งหากปล่อยทิ้งเอาไว้ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น เป็นผลมาจาก 3 องค์ประกอบหลักใหญ่ๆ ได้แก่

  • ผนังหลอดเลือดผิดปกติ

เช่น มีบาดแผลเกิดขึ้นจากการถูกมีดบาด หรือการเข้ารับการรักษา ทำหัตถการ การผ่าตัดบางอย่าง จนทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย รวมถึงการที่ผนังหลอดเลือดมีคราบไขมันเกาะอุดตัน ก็มีโอกาสที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้

  • การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ

สามารถเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น เกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้การบีบตัวของหัวใจ ในการส่งเลือดขาดความต่อเนื่อง เกิดจากตัวผนังหลอดเลือด มีความโป่งพอง ทำให้เมื่อหัวใจบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะเกิดการวน ติดขัด ไม่ราบรื่น หรือเกิดจากภาวะเจ็บป่วยบางอย่าง ที่ทำให้ร่างกายขยับไม่ได้ การไหลเวียนของเลือดก็จะช้าลง

เมื่อการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ จะเสี่ยงทำให้เกิดตะกอนได้ง่าย เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว อาจเกิดการกระจุกอุดตัน จนทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นมาได้ในที่สุด

  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

เกิดจากสารห้ามการแข็งตัวของเลือดในร่างกายบกพร่อง เช่น ร่างกายขาดโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย

ลิ่มเลือดอุดตัน

ใครมีโอกาสเสี่ยงภัยที่สุด

โอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะแปรผันตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร ก็มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่ออายุมาก ก็ยิ่งมีโรคประจำตัวมาก ผนังหลอดเลือดเสื่อมมากกว่าคนอายุน้อย ร่างกายเกิดภาวะไม่ค่อยขยับตัวตามสภาพ เหมือนวัยหนุ่นสาว จึงทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากขึ้น

นอกจากกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ภาวะลิ่มเลือดอุดตันก็มีโอกาสส่งต่อทางพันธุกรรมได้ โดยหากพ่อแม่หรือญาติ มีการขาดโปรตีนที่เป็นสารห้ามการแข็งตัวของเลือด เราก็มีโอกาสขาดโปรตีนชนิดเดียวกัน จนร่างกายเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากขึ้น รวมถึงการมีประวัติการผ่าตัด การใช้ยาเสพติด ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาคุมกำเนิด และกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปเช่นกัน

อันตรายมากน้อยแค่ไหน

ความอันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการอุดตันของลิ่มเลือด โดยปกติแล้ว 2 ตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

  • ขา

ด้วยเพราะเป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ เพราะหลอดเลือดแดง หัวใจจะบีบตัวส่งเลือดแรงตลอดเวลา เลือดจึงมักไม่ค่อยหยุดนิ่ง ผิดกับหลอดเลือดดำที่มักมีการหยุดนิ่งมากกว่า ยิ่งในตำแหน่งขาที่เลือดไหลเวียนช้า จึงยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย

ลิ่มเลือดอุดตัน

  • ปอด

มักเกิดในบริเวณหลอดเลือดแดง ซึ่งน้ำเลือดที่ไม่มีออกซิเจนจากหัวใจห้องล่างขวาเข้าสู่ปอด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ พบการอุดตันของลิ่มเลือดได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ตลอดแนวหลอดเลือดในช่องท้อง บริเวณตับ ม้าม เป็นต้น

ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขานั้น อาจไม่ได้มีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รักษา ภายใน 3 เดือน จะสามารถทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด และเสียชีวิตได้

ดังนั้น หากพบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกของขา ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด ก็ควรรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ปลอดภัยได้มากที่สุด

อาการต้องสงสัยว่าเป็นลิ่มเลือดอุดตัน

อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือด โดยหากเกิดที่ขา จะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วจะรู้สึกปวดบวมมากขึ้น อาการจะเป็นกระทันหัน คือเมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ก็จะพบอาการปวดบวมใน 2-3 วัน ส่วนในกรณีพบลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด จะมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก จนสุดท้ายถ้าไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นแล้ว หากเป็นกรณีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ก็จะมาด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรง

ตรวจอย่างไร ถึงมั่นใจว่าลิ่มเลือดอุดตัน

การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์สงสัย โดยหากเป็นการวินิจฉัยที่ขา จะทำ Doppler Ultrasound เพื่อดูว่ามีการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติบริเวณขาหรือไม่ เพราะถ้ามีลิ่มเลือดอุดตัน เลือดก็จะไม่ไหลผ่านบริเวณนั้น

แต่หากเป็นการวินิจฉัยลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด จะใช้วิธีการฉีดสารทึบแสง นำผู้ป่วยเข้าอุโมงค์ทรวงอก แล้วทำ CT Scan ตรวจสอบโดยละเอียด ส่วนถ้าเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดที่สมอง จะสามารถทำได้ทั้งการใช้ CT Scan และ MRI

ลิ่มเลือดอุดตัน

วิธีการรักษา 

ในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือดชุดใหม่ และอาศัยสารต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีอยู่แล้วในร่างกายให้ทำหน้าที่สลายลิ่มเลือดเดิมให้ค่อยๆ หายไป

สำหรับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดและรับประทาน ซึ่งเงื่อนไขในการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับความอันตรายของโรคว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดที่ปอด แพทย์มักจะพิจารณาฉีดยาผ่านทางหลอดเลือดดำโดยเร็ว เพื่อลดความรุนแรง แต่ถ้าเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดบริเวณขา ก็สามารถให้เป็นยารับประทานได้ เพราะรุนแรงน้อยกว่า

โดยระยะเวลาในการให้ยา ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น หากเกิดจากอุบัติเหตุ ขาขยับไม่ได้ต้องใส่เฝือก เมื่อกระดูกที่หักสมานกัน ทำกายภาพบำบัดจนกลับมาเดินได้เป็นปกติแล้ว โอกาสเกิดลิ่มเลือดก็จะหมดไป จึงหยุดใช้ยาได้

แต่ในกรณีสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง ที่เป็นในระยะลุกลามไม่หายขาด ก็จำเป็นจะต้องให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยารักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ก็มีข้อห้ามและเงื่อนไขในการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังอยู่ด้วย คือจะห้ามใช้ในผู้ป่วยสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม

ลิ่มเลือดอุดตัน

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากลิ่มเลือดอุดตัน

เนื่องจากโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันแปรผันตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะป้องกันโรคนี้ได้แบบ 100%  แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีที่สุด ให้ไม่มีโรคประจำตัว หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด ยาคุมกำเนิด ตลอดจนยาแก้ปวดไมเกรนบางตัว ซึ่งมีผลทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ เพราะมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดบางตำแหน่งหดตัวเฉียบพลัน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ จนเกิดการตกตะกอน กลายเป็นลิ่มเลือดในที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว การควบคุมน้ำหนักให้ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ถือเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นเกินค่า BMI มาตรฐานนั้น จะส่งผลทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ตามติดเราไปในทุก ๆ ช่วงวัย ยิ่งกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น

ดังนั้น การเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ประเมินสุขภาพเลือด คัดกรองเบาหวาน ตรวจระดับไขมันในเลือด รวมถึงเช็กความผิดปกติของหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ชีวิตของเรานั้นจะปลอดภัยและห่างไกลจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันให้ได้มากที่สุด

ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo