Lifestyle

ศุกร์ (สุข) ละวัด ที่วัดราชโอรสาราม

วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสร้างกรุงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี เดิมเรียกว่า “วัดจอมทอง” บ้าง “วัดเจ้าทอง” บ้าง หรือ “วัดกองทอง” บ้าง

ในสมัยราชกาลที่ 3 พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าตระเตรียมกำลังจะยกเข้ามาตีประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรด ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่พม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือกันและเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส”

สิ่งน่าสนใจอย่างแรกของวัดนี้คือแผนผังของวัด เพราะเป็นการนำแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก แผนผังแบบฮวงจุ้ยนั้นบ้านจะหันหน้าไปยังน้ำโดยมีภูเขาใหญ่อยู่ข้างหลัง ขนาบสองข้างด้วยเนินเขา วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นคลอง ด้านหลังเป็นวิหารพระนอนขนาดใหญ่ ขนาบสองข้างด้วยวิหารพระนั่งและศาลการเปรียญ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะนำไอเดียของฮวงจุ้ยมาประยุกต์ใช้ที่นี่

วัดราชโอรสฯ 210604 7

วัดราชโอรสฯ 210604 0

พระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 แบบไทยประเพณีดั้งเดิม หน้าบันก่ออิฐแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคล ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ช่อดอกไม้ หงส์คู่ เมฆ ผีเสื้อ

ส่วนชั้นล่างเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยบ้านมีคนอยู่ ภูเขา ต้นไม้ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการใช้ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของหลังคาซึ่งมีความคงทนแข็งแรง ทำให้พระอุโบสถและพระวิหารในรัชกาลนี้มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก่อนที่จะเข้าไปภายในพระอุโบสถก็คือทวารบาล ตามปกติแล้วทวารบาลหากไม่แกะสลักหรือวาดบนบานประตู ก็มักจะเป็นประติมากรรมหินตั้งเอาไว้ แต่ที่นี่ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ 2 ตัวตั้งเอาไว้แทน ส่วนบานประตูด้านในวาดเป็นเซี่ยวกางหรือทวารบาลจีนโดยที่ด้านนอกเป็นบานประตูประดับมุกรูปมังกรดั้นเมฆ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทวารบาลซ้อนทวารบาลเลยทีเดียว

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร พระพุทธรูปปางสมาธิประทับภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานเมื่อ พ.ศ. 2504 เนื่องจากที่บริเวณผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปปราสาทอันเป็นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลาจารึกดวงพระชันษาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาบรรจุเมื่อ พ.ศ. 2397 พร้อมกับการถวายพระนามให้พระพุทธรูปองค์นี้

วัดราชโอรสฯ 210604 6

วัดราชโอรสฯ 210604 10

นอกเหนือจากพระประธาน ผนังภายในของพระอุโบสถหลังนี้ยังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเครื่องตั้งเครื่องมงคลอย่างจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ จากที่แต่ก่อนจะต้องเขียนภาพทศชาติชาดกบ้าง พุทธประวัติบ้าง จักรวาลบ้าง โดยเหตุที่มีการนำภาพเครื่องตั้งแบบจีนมาเขียนบนฝาผนังวัดนั้นน่าจะมาจากการที่ชาวจีนนิยมประดับเครื่องตั้งไว้ในบ้านพักอาศัยเพื่อความมีโชคลาภและมีการเขียนตามศาลเจ้าจีน วัดจีน อยู่ก่อนแล้วเครื่องตั้งเหล่านี้เขียนอยู่ในช่องที่มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ กำแพงด้านนอกของระเบียงคดที่มีแผ่นจารึกตำรายาคล้ายกับที่พบที่วัดโพธิ์ เมื่อผ่านแนวระเบียงคดมาโดยประตูที่เหมือนจะเป็นประตูทรงกลม วิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารหลังนี้มีแนวระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหลากหลายสมัยที่รวบรวมลงมาจากหัวเมืองเหนือ (หัวเมืองเหนือในทีนี้หมายถึงเมืองที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ) ที่อัญเชิญลงมาตั้งแต่ต้นกรุง ล้อมรอบชั้นที่ 2 คือแถวเจดีย์จำนวน 32 องค์ ซึ่งเมื่อรวมกับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ก็จะกลายเป็นตัวเลข 33 ทันที ตัวเลข 33 นี้มีจำนวนเท่ากับของเทวดาทั้งหมด 33 องค์ รวมพระอินทร์ด้วย

ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในอีกวิธีหนึ่ง พระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะภายนอกคล้ายกับพระอุโบสถ แต่หน้าบันมีการประดับน้อยกว่าพระอุโบสถและไม่ได้ใช้กระเบื้องเคลือบแต่ใช้ปูนปั้นแล้วทาสี

วัดราชโอรสฯ 210604 13

 

วัดราชโอรสฯ 210604 1

ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ นามพระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จสรรเพชญพุทธบพิตร พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีการทำลวดลายมงคล 108 ประการที่พระบาทแบบเดียวกับพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ แต่วัดราชโอรสใช้เทคนิคลายรดน้ำ ส่วนวัดโพธิ์ใช้เทคนิคฝังมุก บานหน้าต่างของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ทำเป็นรูปไม้ดัดและนก เป็นการวาดภาพบนหน้าต่างแนวใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำที่นี่เป็นที่แรกๆ เช่นกัน

วัดราชโอรส จึงตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดแรกที่เป็นวัดที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันอย่างสามัญ ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ทรงสร้างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนงดงามยิ่งนัก อย่างหาที่ติมิได้

วัดราชโอรสฯ 210604 8

วัดราชโอรสฯ 210604 14

วัดราชโอรสฯ 210604 3

วัดราชโอรสฯ 210604 2

วัดราชโอรสฯ 210604 11

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight