Lifestyle

เปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยการเมืองสู่ ‘ธรรมศาสตร์แห่งอนาคต’

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์6
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เด็กเกิดน้อยลง และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป การเรียนในระบบถูกให้ความสำคัญลดลง จนหลายหลักสูตรในบางมหาวิทยาลัยถึงขั้นต้องปิดตัว หากไม่ปรับตัวมหาวิทยาลัยอาจดำรงความศักดิ์สิทธิได้ยาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่าง “ธรรมศาสตร์” ที่ต้องหันมาทบทวน และตั้งคำถามกับสถาบัน ว่าตลอด 84 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะยังติดภาพมหาวิทยาลัยแห่งการเมืองต่อไปหรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะยืนหยัดได้ในอนาคต

เมื่อได้คำตอบ จึงเป็นที่มาให้สถาบันแห่งนี้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ไปสู่รูปแบบการเรียนการสอน  เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” เน้นความเป็นเลิศด้าน Research Innovation Entrepreneurship เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็เปิดรับความร่วมมือกับเอกชน ด้านวิจัยและนวัตกรรม ทั้งไม่ลืมที่จะดูแลนักศึกษาทั้งกาย-จิตใจ ทำหน้าที่ปั้นเยาวชนที่ดีของชาติ โดยเปิด Application mindmood ให้คำปรึกษาปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าว่า เรากำลังขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคดิจิทัล การศึกษาข้ามพรมแดน การแข่งขันที่สูงขึ้นในระบบการศึกษา และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21

โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  1. การสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ GREATS (Transforming you into GREATS) ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีองค์ความรู้แบบบูรณาการในศาสตร์ต่างๆ มีทักษะการเป็นผู้นำ และเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านภาษา โดยต้องสื่อสารให้ได้อย่างน้อย 3 ภาษา
  2. สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม (Innovation research for Impact) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’
  3. สร้างความเป็นนานาชาติและเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งใน และต่างประเทศ (Going for great together) โดยเฉพาะด้านวิชาการ และการสร้างผลงานวิจัย รวมถึงนวัตกรรม
  4. เน้นการเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อประชาชน (World Class services for The People) ยกระดับคุณภาพการให้บริการวิชาการ และการบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล

      ศูนย์หัวใจMRI 3 tesla 1 

ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิก (Clinical excellence Center) โดยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้บริการแก่ชุมชนและประชาชน

  1. เน้นพัฒนาระบบการทำงาน ศักยภาพของบุคลากร และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน และพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพสูง

สำหรับในปี 2562 รศ.เกศินี  บอกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายชัดเจนว่าเราจะเป็นThammasat Transformation : Defining the Future หรือ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” โดยปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

โครงการที่เป็นรูปธรรม คือ การเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบตลาดวิชา Gen Next Academy  ให้ประชาชนทั่วไปไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดอายุ เรียนวิชาต่างๆ ในธรรมศาสตร์ได้ไม่จำกัดจำนวนวิชาตามความสนใจได้ และยังเรียนวิชาโทข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) เพื่อสร้างสมรรถนะใหม่

ให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาหลักสูตร และเรียนรู้ในสถานประกอบการ (Work Integrated Learning) พร้อมส่งเสริมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น

“เราปรับเพื่อ เพื่อตอบโจทย์บริบทสังคมไทย และโลก จึงพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรที่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

 TU 049

Gen Next Academy ไม่จำกัดวุฒิ-อายุ

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เสริมว่า นโยบายเปิดตลาดวิชา Gen Next Academy เพื่อให้คนภายนอก โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุ เรียนได้ใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.การเรียนแบบ Face-to-face ในห้องเรียนร่วมกับนักศึกษาธรรมศาสตร์

2.การอบรมระยะสั้น 14 สัปดาห์ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเย็น

3. การเรียนในรูปแบบ MOOC หรือ Massive Open Online Course นำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสาน

โดยให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อโอนเข้าหลักสูตรปกติได้ เมื่อเรียนครบ 25% ของหลักสูตรนั้น และมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของหลักสูตร  สามารถจบการศึกษาได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตร ระดับอนุปริญญา และปริญญาบัตร

และเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ได้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาห้องเรียน เพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบ Active Learning สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันแบบ Co-working Space และปรับรูปแบบการสอนให้เป็น E-Learning เพิ่มประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ รวมทั้งการดูแลนักศึกษา ให้นักศึกษามีพื้นที่ในการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆ พร้อมไปกับสร้างมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์

TU Rangsit 9872

มุ่งดูแลจิตใจนักศึกษาให้มีสุขภาวะ

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา เล่าถึงนโยบายสร้างสุขภาวะทั้งทางกายและจิตใจว่า นอกจากปรับการเรียนการสอนแล้ว ยังไม่ทิ้งการดูแลนักศึกษา เพื่อให้มีความสุขในการเรียน โดยมีระบบให้คำปรึกษา และดูแลผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ หากเกิดความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ผ่าน Application mindmood

Application นี้ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ประเมินสุขภาพจิตใจ และวิธีการดูแลตนเองเมื่อเกิดความเครียด ซึมเศร้าวิตกกังวล และ ยังใช้เป็นช่องทางติดต่อช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ให้นักศึกษามีส่วนร่วมทำ Hackathon ซึ่งมีการนำเสนอผลงานเด่นๆ ของนักศึกษา

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย  University for all  เปิดกว้างรับนักศึกษาพิการทุกคนในโครงการนักศึกษาพิการ และเป็นต้นแบบของ Universal Design ที่มีกายภาพเหมาะสำหรับผู้พิการ ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ออกแบบพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างสมบูรณ์ และยังมี Application สำหรับผู้พิการ

ปั้นนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

Research Innovation Entrepreneurship  เป็นอีกเรื่องที่ธรรมศาสตร์จะปลุกปั้นนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ด้วย ศ.ดร.ทันตแพทย์หญิง ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม บอกว่า เราจะส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยจำนวนมากได้รับรางวัล ทั้งในประเทศ และสร้างชื่อเสียงระดับโลก

สะท้อนศักยภาพของศูนย์วิจัย (Research Center) ทั้ง 15 สาขาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงาน พร้อมสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับภาคเอกชน และนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นผลงานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสังคม คิดค้นผลงานวิจัย และนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ยิ่งขึ้น นวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี Thammasat Fellowship และ Chaired Professors เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านผลงานวิชาการ ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินการ

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างงานวิจัย และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมงานวิชาการเท่านั้น แต่ยังมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ (Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities)ด้วย ”

การปฏิวัติมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ก็เพื่อปรับตัวฝ่ากระแสความท้าทาย เปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งอนาคตได้อย่างสมศักดิ์ศรี และดำรงจิตวิญญาณความเป็น “ธรรมศาสตร์” ที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้เสมอผ่านยุคสมัย แม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปเพียงใดก็ตาม

Image 0331

 

Avatar photo