Lifestyle

เตือน ‘อาหารงานบุญ’ เสี่ยงป่วย อาหารเป็นพิษ แนะยึด ‘สุก ร้อน สะอาด’

อาหารงานบุญ เสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษ กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน ออกทำบุญกฐิน งานประเพณี แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กันไว้ดีกว่าแก้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงหลังจากออกพรรษาจะมีการจัดงานบุญกฐิน หรืองานบุญประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะมีการประกอบอาหารจำนวนมาก เป็น อาหารงานบุญ เพื่อเลี้ยงผู้ที่มาร่วมทำบุญ

อาหารงานบุญ

กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังเรื่อง การจัดเตรียมอาหาร และการรับประทานอาหาร เป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่มีทั้งร้อนสลับกับฝนตก หรือบางพื้นที่ มีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิด ที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ เจริญเติบโตได้ดี

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการที่ อาหารบางอย่าง ปรุงเสร็จไว้นานแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย ด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ

ทั้งนี้ เห็นได้จาก สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วย จำนวน 66,494 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี และ อายุ 25-34 ปี ตามลำดับ

ส่วนจังหวัด ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน สูงสุด ได้แก่ สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มุกดาหาร และลําพูน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำ ที่ปนเปื้อน เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ หรือ สารเคมี ที่มาได้กับอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ วัตถุดิบ น้ำดื่ม น้ำแข็ง ไม่สะอาด

ขณะเดียวกัน ยังอาจเกิดจาก อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง โดยไม่นำไปแช่เย็น หรือนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึง ก่อนรับประทาน รวมถึงสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศร้อน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี

สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ที่ประชาชนควรระมัดระวัง 10 เมนูเสี่ยง ได้แก่

  • จ่อม ลาบ หรือก้อยดิบ
  • อาหารประเภทยำ เช่น ยำกุ้งเต้น
  • อาหารทะเล เช่น ยำทะเล
  • ข้าวผัด ข้าวผัดโรยเนื้อปู
  • อาหาร หรือขนม ที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
  • ขนมจีน
  • ข้าวมันไก่
  • ส้มตำ
  • สลัดผัก
  • น้ำแข็งที่ไม่สะอาด

ขณะที่ การจัดเตรียมอาหารเลี้ยงคนหมู่มาก เช่น อาหารกล่อง ควรเลือกเป็นอาหารแห้ง ไม่ราดกับข้าวลงบนข้าวโดยตรง และควรรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากปรุงเสร็จ หากมีสี กลิ่น รส ผิดปกติ ไม่ควรรับประทานโดยเด็ดขาด

ด้านการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหาร ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก

ส่วนอาการของ โรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด และอาจมีไข้ร่วมด้วย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำ จนช็อกและเสียชีวิตได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo