Lifestyle

น่าห่วง! ความรุนแรงในสถานศึกษา แนะผู้ปกครอง ‘สร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้เด็ก

ความรุนแรงในสถานศึกษา กรมสุขภาพจิต ห่วงใยเรื่องความรุนแรงต่อเด็ก แนะผู้ปกครอง สร้างพื้นที่ปลอดภัย สังเกตอาการบุตรหลานใกล้ชิด

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากข้อวิตกกังวลของประชาชน ที่มีต่อ ความรุนแรงในสถานศึกษา โดยเฉพาะความรุนแรง ที่มีต่อเด็กเล็ก ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ปกครองหลายท่าน อาจเกิดความกลัว และ กังวลใจว่า บุตรหลานของตนเอง อาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จากความรุนแรงเช่นเดียวกัน

ความรุนแรงในสถานศึกษา

สำหรับกรมสุขภาพจิต ได้ทำงานประสาน กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้อง และ ร่วมกันวางแผนในอนาคต เพื่อสร้าง ความรู้สึกปลอดภัย ในโรงเรียน ให้กับเด็ก และเยาวชนไทย

ทั้งนี้ การที่เด็กและเยาวชน จะมีพัฒนาการที่ดีได้นั้น ต้องมี ความรู้สึกปลอดภัย ในสถานที่ที่ตนเอง ต้องดำเนินชีวิตประจำวัน เรียนหนังสือ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ

ดังนั้น เป้าหมายการดูแลของผู้ปกครอง เมื่อเด็กถูกกระทำความรุนแรง หรือ สงสัยว่าอาจถูกกระทำความรุนแรง คือ การสร้างความรู้สึกปลอดภัยในเด็ก โดยเน้นการสร้าง ความรู้สึกปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน ครอบครัว เพื่อน และชุมชน พร้อมทั้งให้ความมั่นใจกับเด็กว่า ขณะนี้เด็กอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังควรให้ช่องทางในการติดต่อ สื่อสาร หรือบอกเล่า หากเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง กับความรุนแรง ให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การสื่อสาร เมื่อตนเองถูกทำร้าย เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมควรกระทำ รวมทั้งควรให้เด็ก ได้ทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง อย่างเป็นปกติให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน ต้องหลีกเลี่ยง การให้เด็กเล่าซ้ำ ๆ ตอบคำถามซ้ำ ๆ ดูภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ หรืออยู่ในสถานที่เกิดเหตุซ้ำ ๆ และไม่ควรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง เข้ามาพูดคุย ซักถามเหตุการณ์ หรือ ล้อเลียนเด็ก

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร

กรมสุขภาพจิต มีข้อแนะนำวิธีสังเกตง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองทำได้ หากสงสัยว่าบุตรหลาน อาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากความรุนแรง โดยมีข้อแนะนำ 3 ประการดังนี้

  • สังเกตร่องรอย การถูกทำร้ายตามร่างกาย พฤติกรรม หรือ อารมณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เช่น มีอาการหวาดกลัว มีพฤติกรรมถดถอย ก้าวร้าว ซึมเศร้า หรือ กลัวการแยกจากผู้ปกครองมากขึ้น
  • ใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อสาร โดยไม่ด่วนตัดสิน อาจเริ่มต้นจากคำถามง่าย เช่น “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง” “วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด”

กรณีที่สงสัยว่า ลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่าย ๆ เช่น “ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ เราจะได้ช่วยกัน” ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเล่า หรือตอบได้ อาจใช้ศิลปะ หรือ การเล่นผ่านบทบาทสมมติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสื่อสารได้

  • สร้าง พื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ความรู้สึกปลอดภัย ให้ลูกสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้ โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ หลีกเลี่ยงการใช้การลงโทษ ที่ใช้ความรุนแรง ทางกายภาพ และทางอารมณ์ เน้นการใช้แรงเสริมทางบวก เพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ดีแทน

ทั้งนี้ หากเด็กและเยาวชนในการดูแล มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ ได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ

นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างใกล้ชิด จัดการอารมณ์ตนเอง อย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ และไม่ใช้ความรุนแรง ลดการตำหนิ หรือโทษตนเอง หากเด็กต้องพบเจอกับความรุนแรง มุ่งเน้นการมองไปข้างหน้า เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

หากผู้ปกครอง รู้สึกเครียด หรือไม่สามารถจัดการอารมณ์ และความรู้สึกของตนเองได้ สามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo