Lifestyle

รู้ไว้ได้สุขภาพ! ออกกำลังกาย แบบแอโรบิก สร้างภูมิคุ้มกันให้หัวใจ

ออกกำลังกาย แบบแอโรบิก วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดิน ต่อเนื่อง 20-60 นาทีต่อวัน สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงเกิด โรคหัวใจ หลายชนิด

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงหัวใจ คือ ออกกำลังกาย แบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดิน เป็นต้น

ออกกำลังกาย แบบแอโรบิก
Group of happy seniors during warm-up before exercise

สำหรับระดับความหนัก ของการออกกำลังกาย คือ 55-90% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ในแต่ละช่วงอายุ  โดยเริ่มจับชีพจรปกติ แล้วบวกเพิ่ม 20-30 ครั้ง/นาที ใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 20-60 นาทีต่อวัน ความถี่อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ หากออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิด โรคหัวใจ ต่าง ๆ ลดความอ้วน ปรับปรุงรูปร่าง เพิ่มความรู้สึก ของการมีสุขภาพที่ดี ช่วยให้หลับสบายขึ้น เพิ่ม หรือ คงระดับความแข็งแรง ทนทาน และเพิ่มระดับ การใช้พลังงานของร่างกาย เพิ่มความกระฉับกระเฉง และ ยังเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ และกระดูกอีกด้วย

หลักการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพหัวใจ คือ ออกกำลังกายให้เหมาะสม กับวัยของตนเอง โดยใช้ความแรง พอที่จะกระตุ้นการพัฒนาร่างกาย และหัวใจ โดยไม่เสี่ยงอันตราย ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากจะมีผลดีต่อหัวใจแล้ว ยังมีประโยชน์ ต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

ออกกำลังกาย แบบแอโรบิก

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเลือกรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญคือ การออกกำลังกาย เพราะนอกจาก จะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ก็ยังจะทำให้หัวใจของเรา แข็งแรงอีกด้วย เนื่องจากการออกกำลังกาย จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจ มีการสูบฉีดเลือด ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ไปเลี้ยงที่หัวใจ ลดปัจจัยเสี่ยง การเกิด โรคหัวใจ ชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ จากความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และยังลดความถี่ ของการเจ็บหน้าอก ของผู้ป่วยโรคหัวใจลงอีกด้วย

2 1

ขณะที่ นพ.อร่ามวงศ์ ทวีลาภ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การออกกำลังกาย ทำให้ระดับความดันโลหิต ไขมัน, น้ำตาลในเลือด และ น้ำหนักลดลง ส่งผลให้ลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ทำไมยังมีข่าวว่า คนทั่วไป หรือ แม้กระทั่ง นักกีฬา ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังเป็น โรคหัวใจ หรือ แม้กระทั่งมีการเสียชีวิตเฉียบพลัน

จากข้อมูลพบว่า การเสียชีวิตเฉียบพลัน ในนักกีฬา พบได้น้อยในอเมริกา พบแค่เพียง 1 ใน 100,000 รายต่อปี แต่จะพบมากขึ้น ในกลุ่มนักกีฬาที่มีอายุมาก สาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้น ขึ้นอยู่กับอายุของนักกีฬา

  • กลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากเป็นจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ ตั้งแต่กำเนิด หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดร้ายแรง
  • กลุ่มอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนมากมักเป็นจาก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ถึงแม้ว่าการออกกำลังกาย จะลดโอกาส ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เมื่อมีหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การออกกำลังกายอย่างหนัก จะเพิ่มโอกาส การเกิดภาวะโรคหัวใจเฉียบพลันได้

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด จึงอยู่ที่การออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม และถูกวิธีนั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo