Lifestyle

ถอดบทเรียน ‘ดูแลผู้สูงอายุ’ ช่วงโควิด-19 ชงเพิ่มสิทธิประโยชน์

ดูแลผู้สูงอายุ ช่วงโควิด-19 ถอดบทเรียนต่างชาติ เน้นบิ๊กดาต้า การดูแลตัวเอง ด้านไทย เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ สสส.พลิกวิกฤตพัฒนา”เกษียณคลาส”

วันผู้สูงอายุสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเวทีอภิปราย “การดูแลผู้สูงอายุสูงอายุในช่วงวิกฤต บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” เพื่อถอดบทเรียนการ ดูแลผู้สูงอายุ ช่วงโควิด-19

ดูแลผู้สูงอายุ ช่วงโควิด-19

ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการวิจัยเรื่อง “การจัดบริการสังคมทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุในสถานการณ์วิกฤต : กรณีศึกษาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการสนับสนุนของ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ เป็นการสืบค้นข้อมูลการดำเนินงาน ในศูนย์บริการกลางวัน สำหรับผู้สูงอายุ และบริการสังคมทางเลือก ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ปิดศูนย์ผู้สูงอายุ ในช่วงโควิด-19 แต่ยังให้บริการด้านอาหาร ยารักษาโรค และการให้คำปรึกษา โดยออกข้อแนะนำในการปฏิบัติงานแก่ผู้สูงอายุ ออกแนวปฏิบัติการเปิดบริการ เปิดกิจกรรมออนไลน์ มีรายการใน Youtube และเตรียมให้ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิก ให้เข้าถึงระบบดิจิทัล รวมถึงการเปิดคลินิกดิจิทัล

ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร
ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในสหรัฐฯ ได้เตรียมการเชิงรุกเพื่อช่วยให้บริการมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ จัดทำทะเบียนผู้สูงอายุทุกคนที่เป็นสมาชิก, ก่อนระบาดใหญ่ มีการสำรวจปรับปรุงข้อมูลสำคัญ

ขณะที่ในจีนและอิตาลี ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น มีมาตรการเน้นไปที่การบริการสุขภาพจิต ให้กับผู้สูงอายุ แต่ยังพบว่า มีบทเรียนที่เป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรม เช่น ข้อจำกัดของเตียงในโรงพยาบาล ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการรักษา, การจัดบริการโดยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ และ ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงตนเองไม่ได้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ” ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว

ดูแลผู้สูงอายุ ช่วงโควิด-19

ศ.ศศิพัฒน์ ได้เสนอแนวทาง การจัดบริการสังคม สำหรับผู้สูงอายุในภาวะวิกฤติ ดังนี้

  • ปรับแนวคิดการจัดสวัสดิการใหม่ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ, คงแนวคิด Social Safety Net, คงแนวสวัสดิการเชิงคุ้มครอง, เพิ่มแนวคิดสวัสดิการเชิงผลิตภาพ, สร้างความเข้าใจต่อวิถีชีวิตผู้สูงอายุในสังคมปกติใหม่
  • พัฒนาระบบการจัดการ ในศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ปรับฐานคิดของชุมชน ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ สู่แนวคิดศูนย์บริการครบวงจร
  • เสริมสร้างความรู้ทักษะทางคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงอายุ
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่มีตัวชี้วัดสุขภาพ เศรษฐานะที่เป็นจริง โดยปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา และ สร้างระบบการแบ่งปันข้อมูล
จินตนา จันทร์บำรุง
จินตนา จันทร์บำรุง

ด้านนางจินตนา จันทร์บำรุง หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานคณะทำงานถอดบทเรียนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุไทยในหลายด้าน เช่น การดูแลตัวเอง การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค การเดินทางไปสถานที่ต่างๆ รวมถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย และพบว่ามีผู้สูงอายุที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 2.9% เป็น 6.6%

ด้านความช่วยเหลือและสวัสดิการ รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบหลายมาตรการ ซึ่งบางมาตรการก็ได้ผลดี ตรงเป้าหมาย บางมาตรการก็ยังตกหล่นไม่ถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ควรได้รับความช่วยเหลือ

มาตรการช่วยผู้สูงอายุ ประกอบด้วย เพิ่มเงินให้เปล่า จากกรมกิจการผู้สูงอายุ คนละ 50 หรือ 100 บาท ซึ่งแม้เป้าหมายถูกตัว เพราะเป็นผู้สูงอายุ แต่งบประมาณที่ใช้ก็น้อยมาก คือเพียง 689 ล้านบาท, การพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปี สำหรับลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ จากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน ครอบคลุมผู้สูงอายุเพียง 4.1 หมื่นราย, การจ่ายเงิน 3,000 บาทครั้งเดียว ให้กับผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน

ภรณี ภู่ประเสริฐ
ภรณี ภู่ประเสริฐ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการให้ข้อมูลความรู้ ในการปฏิบัติตนสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ รวมถึง ผู้สูงอายุ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น การเรียนผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบห้องเรียนผู้สูงอายุออนไลน์ การทำกิจกรรมกลุ่มออนไลน์ การพัฒนาระบบ E-learning

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับ “Young Happy” พัฒนา “เกษียณคลาส” ให้เป็นห้องเรียนออนไลน์ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีสุขภาวะที่ดี และร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พัฒนาหลักสูตรเตรียมพร้อม และสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะ “ผู้สูงวัยดิจิทัล” ในระบบออนไลน์ โดยจะเริ่มให้ทดลองใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563

การดำเนินงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่พัฒนาช่วยให้ ผู้สูงอายุ สามารถปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด หรือสถานการณ์วิกฤติในอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ลดภาวะซึมเศร้าได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo