Lifestyle

ฟื้นฟูบ้าน ‘รื้อ – ล้าง’ หลังน้ำลด ป้องกันเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

ฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำลด กรมอนามัย แนะประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ทำความสะอาดบ้าน ลดปัญหาเชื้อราสะสม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ แม้บางพื้นที่จะยังประสบปัญหาอุทกภัย แต่ก็มีอีกหลายจังหวัด ที่สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่จึงควรเร่ง ฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำลด ด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

ฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำลด

ทั้งนี้เพราะ ในช่วงน้ำท่วม น้ำจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรคได้

ดังนั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และที่พักอาศัย ด้วยการ รื้อและล้าง ให้สะอาดปลอดภัย ตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค

โดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งพบได้หลังน้ำลด ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับการรื้อและล้างทำความสะอาด อย่างเร่งด่วน

ส่วนตู้ไม้ที่ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้อีก ควรรวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกัน เพื่อรอการกำจัดจากหน่วยงานราชการต่อไป

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา

นอกจากนี้ ก่อนเข้าไปในบ้าน ต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย และมั่นใจว่าโครงสร้างของบ้าน มีความมั่นคงแข็งแรง เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและลดกลิ่นเหม็นอับ

ส่วนเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยการนำไปตากแดด และสำหรับการกำจัดเชื้อราในบ้าน ทำได้ 3 ขั้นตอน คือ

  • พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อรา ให้ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชู หรือ กระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทิ้งลงในถังขยะ ที่ปิดมีฝามิดชิด

น้ำลด

  • ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนา และขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำผสมสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
  • ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย

ทั้งนี้ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยางและรองเท้าบูททุกครั้ง หลังจากการล้างทำความสะอาดบ้าน และกำจัดเชื้อราแล้ว ควรอาบน้ำชำระร่างกาย ให้สะอาดทันที เพื่อความปลอดภัย และสุขอนามัยดี

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับสถานบริการทุกแห่ง ให้การดูแลประชาชน เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้น จากภัย น้ำท่วม น้ำหลาก น้ำล้นตลิ่งจากฝนที่ตกหนัก ได้รับผลกระทบ 15 จังหวัด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขังที่จังหวัดพิษณุโลก

นายอนุทินได้สั่งการให้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และ โรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคติดต่อ ที่มีผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง หากมีรายงาน ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่ควบคุม ไม่ให้มีการแพร่กระจาย ในวงกว้าง และส่งเจ้าหน้าที่ ทีมหมอครอบครัว อสม. เยี่ยมบ้าน จุดพักพิง

พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้แนะนำให้ความรู้ ในการป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัย จากการจมน้ำ ไฟดูด โรคที่มากับ น้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์

จนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่ง ยาชุดช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย จำนวน 43,850 ชุด ยารักษาน้ำกัดเท้า 8,450 หลอด และ ยาสามัญประจำบ้าน 1,000 ชุด ให้แก่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo