Lifestyle

‘ติดเกมมือถือ’ รหัสโรคพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล พ่อแม่เป็นด่านแรกที่ช่วยได้

ติดเกมมือถือ โรคสายพันธุ์ใหม่ กระทบคุณภาพชีวิต สถาบันสุขภาพจิต เผย เด็กเล่นเกมในมือถือมากแค่ไหน ถึงเข้าข่าย ติดเกม หรือติดโซเชียลมีเดีย

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ติดเกมมือถือ หรือ โรคติดเกม อาจจะถูกบันทึกลงใน บัญชีจำแนกโรคฉบับใหม่ “International Classification of Diseases 11” หรือ ICD-11 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในอนาคต

ติดเกมมือถือ

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่า ปี 2565 เด็กที่เข้าข่ายติดเกมในมือถือ จะมี 3 อาการที่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมคุณภาพชีวิต ได้แก่

  • การควบคุมตนเอง คือ ไม่สามารถควบคุมได้ อยากเล่นตลอดเวลา
  • การให้ความสำคัญ คือ ให้การเล่นเกมในมือถือ อันดับหนึ่ง เรื่องเรียน เรื่องงาน เป็นอันดับรองลงมา
  • การรู้ว่ามีผลกระทบแต่ยังใช้ คือ เล่นเกมในมือถือ ไม่หลับ ไม่นอน ตื่นไปเรียน ไปทำงานไม่ทัน

แล้วเด็กเล่นเกมในมือถือ มากแค่ไหน ถึงเข้าข่ายเป็น “โรคติดเกม

พญ.วิมลรัตน์ อธิบายว่า ทางการแพทย์ ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันที หากพบเด็กเล่นเกมเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ แม้จะไม่เข้าข่ายเป็นโรค พ่อ-แม่ ก็ต้องเป็นด่านแรก ในการจัดการปัญหา ป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคตต่อไป เพราะหากปล่อยให้ลูกเล่นเกมแบบคุมเวลาไม่ได้ จะสุ่มเสี่ยงกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โรคติดเกม ต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์นานนับปี ว่าลูกเข้าข่ายเป็นหรือเปล่า ไม่ใช่แค่เห็นลูกเล่นเกมเพียง 1-2 สัปดาห์ จะต้ดสินได้ว่า เป็นโรคติดเกม

พญ.วิมลรัตย์ ย้ำว่า แม้แพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรค หรือ รหัสโรค ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ครอบครัว ที่จำเป็นต้องมีการจัดการบางอย่าง เพื่อป้องกันให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

แยกแยะแบบไหน “ติดเกม” หรือ “ติดโซเชียลมีเดีย” ในมือถือ

การแยกอาการติดเกม ติดมือถือ ในทางการแพทย์ หากแบ่งจริงๆ จะใช้คำว่า “ติดออนไลน์” กับ “ไม่ติดออนไลน์” โดยการดูแลเคสเด็ก ที่ต้องใช้มือถือแบบขาดไม่ได้ ส่วนใหญ่ที่เลิกยาก เพราะ เกมในโทรศัพท์ ต้องเล่นให้จบ สะสมคะแนน หากออกเกมก่อนเพื่อน อาจถูกต่อว่าไม่ให้เข้ากลุ่มอีกต่อไป จนเป็นข้อผูกมัด สร้างความกลัว ส่งผลทำให้อาจเข้าข่ายเป็น “โรคติดเกม”

ขณะที่มีคนอีกกลุ่มจะ “ติดโซเชียลมีเดีย” เช่น ยูทูป รายการ คนกลุ่มนี้จะเลิกง่ายกว่า เพราะในทางปฏิบัติ สามารถเปิดดูคลิปย้อนหลังได้ ไม่มีพันธะผูกพันเหมือนการเล่นเกม

พญ.วิมลรัตน์ ฝากถึงพ่อ-แม่ และครอบครัว ยุคดิจิทัลว่า วัยรุ่นติดเกม จะมีโลกส่วนตัวสูง หลักการสำคัญคือ พ่อ-แม่ ต้องควบคุมเวลาเล่นมือถือของเขาให้ได้ โดยที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังดีอยู่ เพื่อสุขภาวะที่ดี

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ได้ประกาศให้ “โรคติดเกม” (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมอง มีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก

หลังประเทศไทย มีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว พบว่า ตัวเลขของเด็กติดเกม ที่เข้ารับคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิต มีเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งการจะประกาศให้ E-sport เป็นกีฬานั้น ประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อม และมีมาตรการ ที่ชัดเจนมากกว่านี้ อย่างเช่น ต่างประเทศ มีการบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องลงทะเบียนก่อนเล่นเกม และไม่ให้มีการแข่งขันเกมภายในโรงเรียน รวมถึงมีการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือภายในโรงเรียน

ต้นเหตุสำคัญอีกอย่าง ของโรคติดเกมนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ และผู้ปกครอง ที่มองว่าเด็กอยู่กับเครื่องมือไอที และเด็กเล่นอยู่ในสายตา แล้วรู้สึกว่าไม่อันตราย แต่จริง ๆ แล้วการเล่นเกม จนกลายเป็นการเสพติด กลับยิ่งทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะ และส่งผลต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ หากพบว่า เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเข้าข่ายดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลกระทบตามมาให้ได้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการกระทำของเด็ก คือ เด็กเริ่มใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว เด็กเริ่มพูดโกหก และสุดท้ายเด็กเริ่มขโมยเงิน เพื่อนำไปใช้ซื้อของในเกม หรือนำไปเล่นเกม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo