Lifestyle

อาหารเสริม ผสม เมลาโทนิน ‘ผิดกฎหมาย’ ใช้ระยะยาวเสี่ยงอันตราย

อาหารเสริม ผสม เมลาโทนิน โฆษณาแพร่โซเชียล อย.ออกโรงเตือน ผิดกฏหมาย เพราะยังไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ใช้ระยะยาวเสี่ยงอันตราย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีส่วนผสมของ เมลาโทนินผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบุสรรพคุณอ้างว่า มีส่วนช่วยในการนอนหลับนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อาหารเสริม ผสม เมลาโทนิน ผิดกฎหมาย

อาหารเสริม ผสม เมลาโทนิน

ทั้งนี้เนื่องจาก ในปัจจุบัน ยังไม่อนุญาตให้ใช้ “เมลาโทนิน” เป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมน ที่หากได้รับติดต่อกันในระยะยาว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่ายกายได้

ประกอบกับ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของเมลาโทนิน ส่วนมากมีวัตถุประสงค์การจำหน่าย เพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าว ไม่จัดเป็น “อาหาร” ตามนิยามที่กำหนดในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

ปัจจุบัน มีการขึ้นทะเบียนยา ที่มีส่วนผสมของเมลาโทนิน เป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือ ต้องควบคุมโดยการสั่ง หรือ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

สำหรับ “เมลาโทนิน” เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น จากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่ ควบคุมการหลับ และการตื่นในรอบวัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของช่วงฤดูกาล จึงนิยมนำมาใช้ เพื่อรักษาความผิดปกติ จากการนอนหลับ

ขณะที่ข้อมูลงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อใช้เมลาโทนิน สามารถเพิ่มคุณภาพการนอนได้ แต่ในกลุ่มเด็กพบว่า การได้รับเมลาโทนิน มีแนวโน้มให้เกิดความไม่ปลอดภัย เนื่องจาก อาจกระทบกับฮอร์โมนอื่น ๆ และอาจ รบกวนพัฒนาการของร่างกาย ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น

นอกจากนี้ เมลาโทนิน อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยากันชัก (Anticonvulsants) ยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์

ดังนั้น อย.จึงฝากเตือนผู้บริโภค ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรพิจารณาถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ที่ผสมเมลาโทนิน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าหากบริโภคติดต่อกันระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอนตอนกลางวัน ปวด หรือ วิงเวียนศีรษะ มวนท้อง หงุดหงิด มึนงง ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น

ทั้งนี้ เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติ นอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเสี่ยงซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ที่โฆษณาอวดอ้าง ช่วยให้นอนหลับ มารับประทานเอง

หากผู้บริโภคพบเห็น ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ขณะที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ เมลาโทนิน (Melatonin) ว่า เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากสมอง โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนิน ในเวลาที่ไม่มีแสง หรือมีแสงสว่างน้อย เมื่อถึงเวลากลางคืน สมองจะหลั่งเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง ซึ่งปกติจะเป็นเวลาประมาณ 21.00 น.

ระดับของเมลาโทนิน จะคงอยู่ในกระแสเลือด เป็นเวลา 12 ชั่วโมงแล้วจะค่อย ๆ ลดลง พร้อมกับการกลับมาของแสงอาทิตย์ และในเวลาประมาณ 9.00 น. ระดับเมลาโทนินจะลดต่ำลงจนวัดระดับไม่ได้

GettyImages 200317636 001

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่อง แสงและความสว่าง ก็ส่งผลต่อการหลั่งเมลาโทนินเช่นกัน บางครั้งจึงเรียกฮอร์โมนชนิดนี้ว่า “Dracula of hormones” เนื่องจากเมลาโทนินจะหลั่งออกมาในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่ในที่มืด มีแสงน้อย และร่างกายจะถูกยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินเมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟ ความสว่างของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

เนื่องจากเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง จึงทำให้ประโยชน์ของฮอร์โมนนี้ เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบัน ฮอร์โมนดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นภายนอกร่างกาย ด้วยวิธีการสังเคราะห์ และนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม หรือยาที่ใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ประโยชน์ของการใช้เมลาโทนิน เพื่อบรรเทาปัญหาการนอนหลับ มีดังนี้

  • รักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพในคนตาบอด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
  • รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (delayed sleep phase syndrome) เป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับ ที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลา 2.00 น. และมักมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า การใช้อาหารเสริมที่มีเมลาโทนินร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม สามารถรักษาความผิดปกติดังกล่าว และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • รักษาโรคนอนไม่หลับ (insomnia) มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เมลาโทนิน เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพในการนอนหลับ และระยะเวลาในการนอนหลับที่ดีมากขึ้น
  • บรรเทาอาการเจ็ทแลค (jet lag) อาการนี้เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนของเขตเวลา โดยมักเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งก่อให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นตัว รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน เป็นต้น
  • ช่วยในเรื่องการนอนหลับของคนที่ทำงานเป็นกะ (shift work)

อาการข้างเคียงจากการใช้เมลาโทนิน

แม้ว่าเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกาย แต่การใช้อาหารเสริม ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสี่ยง จากการได้รับฮอร์โมนนี้ติดต่อกันในระยะยาว ดังนั้น แพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนดังกล่าว ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น อาการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

อาการข้างเคียงที่พบ เช่น ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น อาการมวนท้อง วิตกกังวล หงุดหงิด มึนงง ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo