Lifestyle

หน้าฝนเห็ดชุก!! ชวนโหลดแอป ‘คัดแยกเห็ดไทย’ ตรวจสอบเห็ดมีพิษ

ตรวจสอบเห็ดมีพิษ ด้วยแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” ชนิดไหนกินได้ ชนิดไหนกินแล้วเสี่ยงเสียชีวิต หลังมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ ในช่วงฤดูฝน 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนา Application Mushroom Image Matching ชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อใช้ ตรวจสอบเห็ดมีพิษ และเห็ดที่รับประทานได้ในประเทศไทย

 ตรวจสอบเห็ดมีพิษ

ทั้งนี้เนื่องจาก ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่า เพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีรายงานผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตสูง ในแต่ละปี

สำหรับปี 2563 (เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน) มีรายงานผู้ป่วย ที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษ ที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 275 ราย ตัวอย่างเห็ดพิษ จากหลากหลายแห่ง ถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี ระยอง และตรัง โดยจังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ป่วยสะสมสูงสุด

1 7

 

ขณะที่ เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดก้อนฝุ่น และเห็ดระงาก ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้ มีลักษณะรูปร่างหน้าตา หรือเรียกว่า ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีน และเห็ดคันร่มพิษ คล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดระงากพิษ คล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ และเห็ดก้อนฝุ่น คล้ายกับเห็ดเผาะ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และเก็บมารับประทาน จึงได้รับสารพิษเข้าไป

สำหรับ แอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดมีพิษ และเห็ดที่รับประทานได้ ในประเทศไทย โดยรวบรวมภาพถ่ายของเห็ด ทั้งเห็ดพิษ และเห็ดที่รับประทานได้ เพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพ และแสดงผลชนิดของเห็ด และร้อยละของความถูกต้อง

การใช้งาน

ปัจจุบัน โปรแกรมแอพพลิเคชั่น (Application) ในเวอร์ชั่น V1.2R3 มีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดพิษ ที่พบบ่อยเพื่อประมวลผล ได้แก่ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ เห็ดถ่านเลือด เป็นต้น นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้ว ในฐานข้อมูล ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติม ของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษดังกล่าว เป็นต้น

การใช้งานโปรแกรมดังกล่าว ต้องทำการ ดาวน์โหลดโปรแกรม มาติดตั้งไว้บน โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แบบแอนดรอยด์ เท่านั้น โดยเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง คือ

1. เลือกจาก เพลย์ สโตร์ ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย”

2. สแกน QR Code จากนั้นทำการลงทะเบียน และใช้งานโปรแกรม ด้วยการเปิดกล้อง และสแกนดอกเห็ด ที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ เรียลไทม์ และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิด เท่ากับร้อยละ 95 หรือ สามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้ รวมทั้งสามารถตรวจสอบ ชนิดของเห็ด จากภาพถ่าย ที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ ได้เช่นกัน

การใช้งาน1

อย่างไรก็ตาม การใช้แอพพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” เป็นเพียงเครื่องมือในการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการรับประทานเท่านั้น เพราะแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ยังไม่สามารถแปรผลได้ 100%

ดังนั้น การรับประทานเห็ด ไม่ควรรับประทาน เห็ดที่ไม่รู้จัก และที่สำคัญ ไม่ควรรับประทาน เห็ดกับสุรา หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการทางระบบประสาท ให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบไปโรงพยาบาลในพื้นที่ พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหาร ที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo