Lifestyle

ปวดหัวเรื้อรัง ระวัง!!สัญญาณเตือน เนื้องอกในสมอง พบแพทย์ด่วน

แพทย์ เปิดปัจจัยเสี่ยง เนื้องอกในสมอง ทั้ง อายุ การรับรังสี คนในครอบครัว แนะจับสัญญาณเตือน ปวดหัวเรื้อรัง มากขึ้นเรื่อยๆ ชัก อ่อนแรง รีบพบแพทย์ด่วน 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื้องอกในสมอง คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ของเซลล์ในสมอง หรือ บริเวณเนื้อเยื่อ และต่อมต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ไปรบกวนระบบประสาท และการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ และอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

สำหรับเนื้องอกในสมองมี 4 ระดับ โดยวัดตามลำดับการเจริญเติบโตของเนื้องอก และโอกาสในการกลับมาเป็นอีก แม้ได้รับการรักษาแล้ว โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

1. เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา เป็นเนื้องอกที่มีการเจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา

2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิด บริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ ไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของเนื้องอกในสมอง เกิดจากความผิดปกติของ สารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ

สมอง

เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้ จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่สมอง และระบบประสาท หรืออาจเกิดจากมีเซลล์มะเร็งที่อื่น แล้วลามเข้าสู่สมอง ทางกระแสเลือด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการ ที่เฉพาะเจาะจง ในการป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง ได้แก่ อายุ การได้รับรังสีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย ประวัติบุคคลในครอบครัวที่เคยมีเนื้องอกในสมอง

ปัจจุบันแนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะเลือกแนวทางรักษา จากอาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก

หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการ และมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมอง ที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการ เพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงค่อยทำการรักษา แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควร และทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออก

ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว พบว่าเป็นเนื้อร้าย อาจต้องทำการฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ดังนั้น หากมีสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ที่อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง เช่น อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการอ่อนแรง ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการชัก ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างทันท่วงที

 

Avatar photo