Lifestyle

สุริยุปราคา 2563 ปรากฎการณ์ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ บอกอะไรเราบ้าง!

สุริยุปราคา 2563 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ไขข้อสงสัย ปรากฎการณ์ “ดวงจันทร์” บดบัง “ดวงอาทิตย์” บอกอะไรเราบ้าง!

สุริยุปราคา 2563 : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า #สุริยุปราคาวงแหวน และ #สุริยุปราคาบางส่วน บอกอะไรกับเราบ้าง?

สุริยุปราคาวงแหวน คือ สุริยุปราคา ที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก ในขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้ดวงจันทร์ บังดวงอาทิตย์ไม่เต็มดวง คนบนโลก จะมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นโดยรอบ ลักษณะคล้ายวงแหวน

สุริยุปราคา 2563

สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดี ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งเพียงบางส่วน

เราจะศึกษาอะไรจากสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ได้บ้างนะ?

  • บรรยากาศโลกในช่วงเกิดสุริยุปราคา

สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ลดลง แล้วกลับมาสว่างขึ้นในเวลาค่อนข้างเร็ว  นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาว่า ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จะมีผลต่อบรรยากาศของโลกหรือไม่ อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ระหว่างเกิดสุริยุปราคา (เช่น อุณหภูมิ) ความเปลี่ยนแปลงของ สภาพการนำไฟฟ้าในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ หรือ การเกิดโอโซนจากการเปลี่ยนแปลงของรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์

  • ความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราการบังของดวงจันทร์

การศึกษานี้ สามารถทำได้เมื่อใช้อุปกรณ์วัดความเข้มแสง เพียงแต่อาจมีปัจจัยรบกวนอื่น ๆ จากชั้นบรรยากาศโลก เช่น เมฆที่เคลื่อนเข้ามาบัง หรือ มุมเงยของดวงอาทิตย์ อย่างกรณี เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับขอบฟ้า แสงอาทิตย์ จะส่องเป็นมุมเฉียงมากขึ้น และมีระยะเดินทางผ่านบรรยากาศโลกยาวขึ้น แสงจึงถูกกรองออกไปมากขึ้นด้วย ทำให้เราสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ ในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นและกำลังตก

  • พื้นผิวของดวงจันทร์

หากขนาดปรากฏของดวงจันทร์ ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนใกล้เคียง กับดวงอาทิตย์มาก ๆ จนมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวน มีวงแหวนที่ขาดช่วงไป นั่นคือปรากฏการณ์ “ลูกปัดเบลีย์” เกิดจากแสงอาทิตย์ ที่ส่องผ่านหุบเหว ร่อง หรือ หลุมอุกกาบาต บริเวณขอบของดวงจันทร์ จนเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นหย่อม ๆ บนวงแหวนบาง ลักษณะปรากฏของ “วงแหวนขาดช่วง” ทำให้สามารถประเมินคร่าว ๆ ว่า บริเวณใดเป็นภูเขา หรือ หุบเหวบนดวงจันทร์ แล้วจึงนำไปเทียบกับแผนที่ดวงจันทร์ต่อได้

สุริยุปราคา 2563
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  • การโคจรของดวงจันทร์

เราสามารถคำนวณหาอัตราเร็ว ในการโคจรของดวงจันทร์ จากการถ่ายภาพ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ระหว่างเกิดสุริยุปราคาได้ ซึ่งในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง ระยะห่าง ระหว่างดวงจันทร์ และโลก จะแตกต่างกัน อัตราเร็วก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย หรือ ทำได้จากการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน ด้วยผู้สังเกตการณ์ 2 คน ที่อยู่ห่างกันในเวลาเดียวกัน แล้วนำมาหาระยะห่างของดวงจันทร์ โดยใช้หลักการพารัลแลกซ์

  • พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตระหว่างเกิดสุริยุปราคา

แม้ว่าระหว่างเกิดสุริยุปราคาวงแหวน หรือสุริยุปราคาบางส่วน ดวงอาทิตย์จะไม่ได้สว่างน้อยลง เท่ากับการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เราสามารถสังเกตการณ์ว่า เมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เปลี่ยนไป จากสุริยุปราคา จะส่งผลต่อพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต อย่างไร เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น

  • สุริยุปราคาทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม

เราสามารถศึกษาเรื่องของสุริยุปราคาในบริบทดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรมได้หลายประเด็น เช่น

  • ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในยุคกลาง ที่คิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จะสามารถคำนวณสุริยุปราคาวงแหวนได้อย่างไร?
  • การตรวจหาบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน และวงแหวนในเอกสารทางประวัติศาสตร์
  • การสำรวจความเชื่อดั้งเดิม หรือ นิทานดาวในวัฒนธรรม หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสุริยุปราคาเต็มดวง กับสุริยุปราคาวงแหวนหรือไม่? อย่างไร?

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า คนไทยสามารถสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนได้ ในช่วงเวลา 13.00 – 16.10 น. ดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งที่สุดในเวลา 14.49 น. ในแต่ละจังหวัดเห็นได้ชัดต่างกัน ดังนี้

  • ภาคเหนือ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 63% ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
  • กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 40%
  • ภาคใต้ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 16%

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ไม่ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์ให้ประชาชนได้ส่องดูดาว แต่จะจัด LIVE สดจาก 4 จุดสังเกตสุริยุปราคาในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 เวลา 13.00 – 16.10 น. ในเพจ FB : NARITpage จากหอดูดาว 4 แห่ง ต่อไปนี้

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ และสงขลา

ขอบคุณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และพิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo