Lifestyle

ลูกเนียง ไม่ใช่ฆาตกร วิธีทานปลอดภัยง่ายๆ ลดพิษได้ แถมช่วยคุมเบาหวาน

ลูกเนียง ไม่ใช่ฆาตกร แนะวิธีทานปลอดภัย ลดพิษได้ แค่ต้มสุก หรือ หั่นบาง ตากแดด แพทย์ชี้ ยังคงสรรพคุณช่วยควบคุมเบาหวาน ขับปัสสาวะ แค่อย่าทานมากไป

จากข่าวผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทาน “ลูกเนียง” ดิบปริมาณมากจิ้มน้ำพริก ในพื้นที่จังหวัดตาก จนเกิดกระแสข่าว ลูกเนียง เป็นพิษ ทั้งที่ ลูกเนียง ไม่ใช่ฆาตกร แต่การทานมากเกินไป จะส่งผลให้เสี่ยงอันตรายจากสารพิษ “กรดเจงโคลิค” ในลูกเนียง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ทานอย่างไรให้ปลอดภัย และเกิดประโยชน์ ไม่ใช่เกิดโทษ

ลูกเนียง ไม่ใช่ฆาตกร

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานพืชทุกปี รวม 7 เหตุการณ์ จำแนกเป็น พิษจากกลอย 3 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยรวม 65 คน มีผู้เสียชีวิต 2 คน พิษจากสบู่ดำ 1 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 5 คน พิษจากว่านจักจั่น 2 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 2 คน และล่าสุด พบจากพิษลูกเนียง 1 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 1 คน

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ล่าสุด ที่พบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทาน “ลูกเนียง” ดิบปริมาณมากจิ้มน้ำพริก ในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมีอาการปวดหน่วงท้องน้อย ปัสสาวะลำบากมาก เป็นเลือดแดงสด และไม่กี่ชั่วโมงต่อมาปัสสาวะไม่ออก ผลตรวจปัสสาวะพบตะกอนเหลืองขุ่น เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์พบผลึกรูปเข็มของกรดอะมิโนชื่อ กรดเจงโคลิก จากการตรวจเลือดพบว่ามีภาวะไตวายเฉียบพลัน

ทั้งนี้ การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ จากการรับประทาน “ลูกเนียง” ได้ เนื่องจากช่วงนี้ของทุกปีเป็นฤดูกาล ที่ต้นลูกเนียงเริ่มให้ผลผลิต และ ออกสู่ตลาด ทำให้ประชาชนเก็บ หรือ ซื้อมารับประทาน ซึ่งการรับประทานในปริมาณที่มาก จะทำให้เกิดอาการป่วยจากอาหารเป็นพิษได้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

อย่างไรก็ตาม ลูกเนียง ประกอบด้วยแป้งร้อยละ 70 โปรตีนร้อยละ 15 นอกจากนี้ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 1 บี 12 วิตามินซี ฟอสฟอรัส กำมะถัน กรดโฟลิค กรดอะมิโน 12 ชนิด มีสรรพคุณช่วยควบคุมเบาหวาน และขับปัสสาวะ ซึ่ง ประชาชนภาคใต้นิยมกินกับน้ำพริกหรือแกงพุงปลา หรือนำมาต้มทำของหวาน ส่วนที่นำไปกินคือ เมล็ดข้างในเปลือก มีกลิ่นฉุน รสชาติมัน อร่อย กินได้ทั้งผลอ่อนและแก่

อย่างไรก็ตาม ลูกเนียง มีด้านความเป็นพิษ โดยพบว่า มีสารพิษที่เรียกว่า “กรดเจงโคลิค” ซึ่งเป็นกรดอะมิโน ที่มีกรดกำมะถันสูงมาก สารพิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง หากอาการรุนแรงจะทำให้ไตล้มเหลวจนถึงเสียชีวิตได้ แต่อาหารเป็นพิษจากลูกเนียงโดยทั่วไปพบได้น้อย

กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังในการกินพืชที่เข้าใจว่ากินได้ ซึ่งหากกินในปริมาณมากเกินไปหรือไม่ทำให้พิษในพืชน้อยลงหรือหมดไป อาจทำให้เป็นอันตรายได้ จึงควรสืบค้นหรือถามข้อมูลก่อน

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังแนะนำ วิธีทาน ลูกเนียง ให้ปลอดภัย และลดพิษในลูกเนียงให้น้อยลง ด้วยการนำเมล็ดไปเพาะในทราย ให้มีหน่อต้นอ่อนงอกออกมา หรือนำเมล็ดไปต้มให้สุก หรือหั่นชิ้นบางๆ แล้วนำไปตากแดดก่อน

ลูกเนียง1

สำหรับวิธีสงสัยอาหารเป็นพิษจาก ลูกเนียง หากกินลูกเนียงดิบปริมาณมาก แล้ว 2-14 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการทางไต ปวดบริเวณขาหนีบ ปัสสาวะลำบากและปวดปัสสาวะมาก น้ำปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีน้ำนม และอาจปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีอาการปวดท้องเป็นพักๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

ทั้งนี้ ในรายที่รุนแรงขึ้นอาจปัสสาวะไม่ออก และอาจเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 3-4 วัน บางรายมีไข้ต่ำ ปัสสาวะน้อยและมีความดันโลหิตสูงได้ และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ดังนั้น จึงฝากแจ้งเตือนถึงพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการกินลูกเนียง โดยในคนปกติให้กินแต่น้อย และผู้ป่วยในกลุ่มโรคนิ่วในไต, ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะลำบาก หรือผู้ป่วยไตเสื่อมทุกระยะ ไม่ควรกินลูกเนียง เนื่องจากอาจเกิดอันตราย และก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้

ขณะที่ ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับ ลูกเนียง หรือ ชะเนียง ว่า เป็นพืชตระกูลถั่ว พันธ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลเป็นฝักใหญ่ ในหนึ่งฝักอาจมี 10-14 เมล็ด เนื้อในเมล็ดใช้บริโภค เมื่อแก่จัดเป็นสีเหลืองนวล มีรสมันกรอบ กลิ่นฉุนฃฃ

ด้าน กรดแจงโคลิค ที่พบในลูกเนียง เป็นกรดอะมิโนที่มีกรดกำมะถันสูงมาก และเป็นพิษต่อร่างกาย สารเป็นพิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง ถ้ารับประทานลูกเนียงดิบเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไม่สะดวก ปัสสาวะขุ่นขาวเป็นสีน้ำนม อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo