Lifestyle

‘ตั้ว ศรัณยู’ เสียชีวิตด้วยวัย 59 ปี ‘เปิ้ล หัทยา’ โพสต์เศร้า ‘อยากให้เวลาเดินช้าช้า’

‘ตั้ว ศรัณยู’ เสียชีวิต สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ ให้กับวงการบันเทิงอีกครั้ง กับการจากไปของนักแสดง  ผู้กำกับ และผู้จัดละครมากความสามารถรายนี้

‘ตั้ว ศรัณยู’ เสียชีวิต สร้างความสูญเสียครั้งครั้งใหญ่ ให้กับวงการบันเทิงอีกครั้ง กับการจากไปของนักแสดง  ผู้กำกับ และผู้จัดละครมากความสามารถรายนี้ ซึ่งคนใกล้ชิดยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ขอลงรายละเอียดว่า ตั้ว ศรัณยู เสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร และตอนนี้ทางครอบครัวก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้

'ตั้ว ศรัณยู' เสียชีวิต

ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการเสียชีวิตออกมาราว 4 ชั่วโมงนั้น  “เปิ้ล หัทยา” ภรรยา ก็ได้โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมส่วนตัว เป็นภาพวิวจากตึก ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมกับข้อความว่า “อยากให้เวลาเดินช้าช้า ขอเวลาสักหน่อย”

'ตั้ว ศรัณยู' เสียชีวิต

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวบางกระแสระบุว่า นักแสดง และผู้จัดละครมากความสามารถเสียชีวิตลง จากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2562  “ตั้ว ศรัณยู” ก็เป็นข่าวใหญ่ จากการที่เกิดล้มลงในกองถ่าย กระทั่งส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก และมีลิ่มเลือดออกมา จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

เปิดประวัติ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

ทั้งนี้ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง มีชื่อจริงว่า นรัณยู วงษ์กระจ่าง เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2503 ที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ศรัณยู เป็นนักแสดง พิธีกร ผู้กำกับการแสดงละครและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในวงการบันเทิงของไทย ก่อนจะเข้ามาในวงการบันเทิง ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกมาก่อน  โดยศรัณยูได้ร่วมกิจการการแสดงโดยแสดงละครของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี  2522 เมื่อยังเป็นนักศึกษาอยู่แล้ว

เมื่อจบออกมามีผลงานชิ้นแรกทางโทรทัศน์ โดยแสดงเป็นตัวประกอบในรายการเพชฌฆาตความเครียด ทางช่อง 9 ในปี  2527 โดยแสดงร่วมกับนักแสดงรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล, เกียรติ กิจเจริญ, วัชระ ปานเอี่ยม เป็นต้น

'ตั้ว ศรัณยู' เสียชีวิต

ศรัณยูรักอาชีพนักแสดงที่สุด เขามีผลงานทางด้านการแสดงมากกว่า 100 เรื่อง ทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที เป็นพระเอกที่ครองความนิยมในประเทศไทยในช่วงยุค 80-90 มีผลงานละครโทรทัศน์โด่งดังมากมาย ได้แก่ เก้าอี้ขาวในห้องแดง (2527) ระนาดเอก (2528) มัสยา (2528) บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ (2530) เกมกามเทพ (2531) เจ้าสาวของอานนท์ (2531) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2532) รัตติกาลยอดรัก (2532)

วนาลี (2533) รอยมาร (2533) วนิดา (2534) ไฟโชนแสง (2535) น้ำเซาะทราย (2536) ทวิภพ (2537) มนต์รักลูกทุ่ง (2538) ด้วยแรงอธิษฐาน (2539) และ นายฮ้อยทมิฬ (2544) ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกนำมาสร้างใหม่ในภายหลัง ส่วนผลงานละครเวทีที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (2530)

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลงานพิธีกร ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และผู้กำกับภาพยนตร์ มากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น เป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์เรื่อง “เทพนิยายนายเสนาะ” (2541), ละครพีเรียดเรื่อง “น้ำพุ” (2545), ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” (2545), ละครเรื่อง “สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย” (2546), ละครเรื่อง “หลังคาแดง” (2547), ละครเรื่อง “ตราบสิ้นดินฟ้า” (2551) ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง “อำมหิตพิศวาส” (2550) และ “คนโขน” (2554) อีกทั้งศรัณยูยังได้นำบทประพันธ์เรื่อง “หลังคาแดง” มาดัดแปลงและนำเสนอในรูปแบบละครเวทีเรื่อง “หลังคาแดง เดอะมิวสิคัล” (2555) อีกด้วย

ศรัณยูเป็นผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง ผลิตละครโทรทัศน์ ในนาม “สามัญการละคร” มีผลงานการกำกับละครเรื่อง “สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย” (2556), หัวใจเถื่อน (2557), รอยรักแรงแค้น (2558) และล่าสุดเรื่อง บัลลังก์หงส์ (2559)

'ตั้ว ศรัณยู' เสียชีวิต

ชีวิตส่วนตัว 

ตั้ว ศรัณยู สมรสกับ หัทยา เกตุสังข์ นักแสดงและดีเจชื่อดัง โดยเข้าพิธีหมั้น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2537 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระตำหนักสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน  2537 ตามด้วยงานฉลองพิธีสมรสในวันที่ 12 มิถุนายน  2537  ทั้งคู่มีบุตรสาวฝาแฝด ชื่อ ศุภรา วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น ลูกหนุน) และ ศีตลา วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น ลูกหนัง)

กิจกรรมการเมือง 

ศรัณยู เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 ชุมนุมทางการขณะปราศรัย บนเวทีกับ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่หน้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2549 ในคราวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นในปี 2541 รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคในระยะแรกด้วย

'ตั้ว ศรัณยู' เสียชีวิต

แต่ในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย ระหว่างปี 2548-2550 ศรัณยูเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่วันแรกที่มาชุมนุม คือ วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และได้ร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ขึ้นเวทีปราศรัยร่วมกับพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เพื่อนนักแสดงที่หน้าสยามพารากอนด้วย

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง ศรัณยูเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในการขับไล่ นายสมัคร สุนทรเวช และคณะรัฐมนตรีทั้งชุดลาออกจากตำแหน่ง และได้ขึ้นเวทีร้องเพลงกับ ไก่ แมลงสาบ และวงซูซูอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งถูกแต่งตั้งให้เป็นแกนนำฯ รุ่นที่ 2 พร้อมกับนางมาลีรัตน์ แก้วก่า ในวันที่ 23 พฤศจิกายน  2551

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ได้รับเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ของทางกลุ่มพันธมิตรฯ  โดยก่อนหน้านั้น หลังจบการชุมนุมเมื่อปี  2551 ของกลุ่มพันธมิตรฯ ศรัณยูมีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ด้วย โดยกำหนดจะออกฉายในราวกลางปี 2552 ถึงขนาดมีการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นนักแสดง โดยเลือกเอาจากบุคคลทั่วไป หรือบุคคลที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมจริง ๆ เป็นนักแสดงนำในเรื่อง แต่จนถึงขณะนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ก็ยังไม่เคยสร้างแต่อย่างใด

ข้อมูล : wikipedia

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo