Lifestyle

‘ป๊อปคัลเจอร์ ญี่ปุ่น’ กระแสแรงในเมียนมา

วัฒนธรรมป๊อป หรือ ป๊อปคัลเจอร์ ของญี่ปุ่น กำลังเข้าไปฝังรากลึกในเมียนมา จากการที่กลุ่มศิลปินชื่อดัง อย่าง AKB48 เข้าไปเปิดการแสดงที่ดึงดูดผู้เข้าชมจำนวนมาก และการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น ก็กำลังเข้าไปแผ่อิทธิพลมากขึ้น

ป๊อปคัลเจอร์

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนของญี่ปุ่น ที่ได้เห็นถึงความสำเร็จของละครเกาหลีใต้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการที่จะไล่ตามการแข่งขันด้านอำนาจอ่อนนี้ให้ทัน

การผลักดันข้างต้น นับว่าประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้จากงานเทศกาลวัฒนธรรมป๊อปประจำปี “Japan Myanmar Pwe Taw” ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่บรรดาแฟนๆ พากันกรีดร้องอย่างกึกก้องไปกับคอนเสิร์ตของ 6 นักร้องหญิง ที่ 4 คนในจำนวนนี้ เป็นสมาชิกของวง AKB48 เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากญี่ปุ่น ส่วนอีก 2 คน เป็นสมาชิก BNK48 วงน้องสาวของ AKB48 จากกรุงเทพมหานคร

คอนเสิร์ตใช้เวลาราว 30 นาที ซึ่งเพลงที่ร้องรวมถึงเพลงยอดฮิตที่เป็นลายเซ็นของวง AKB48 อย่างเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย โคอิซูรุ

ป๊อปคัลเจอร์

งานเทศกาล Japan Myanmar Pwe Taw นี้ จัดขึ้นเป็นที่ 4 แล้ว โดยมีสถานทูตญี่ปุ่น และเจแปน อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดแคสติง หน่วยงานในเครือเอ็นเอชเค สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นแกนหลักในการจัดงาน ร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในเมียนมา อาทิ คิริน โฮลดิ้งส์ และเอซคุ๊ก

บรรดาผู้จัดงาน ประเมินว่า มีผู้เข้าร่วมงานในปีนี้ราว 12,000 คน ทั้งชาวเมืองย่างกุ้ง และชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศนี้

สร้างป๊อปคัลเจอร์อิงท้องถิ่น

วงดนตรีที่ขึ้นแสดงในงานนี้ ยังรวมถึง พริซแม็กซ์ บอยแบนด์ 5 นักร้องหนุ่มญี่ปุ่น ที่มี วิน โมริซากิ วัย 27 ปี ซึ่งเกิดที่เมียนมา เป็นนักร้องนำ โดยโมริซากิสามารถเรียกเสียงโห่ร้องอย่างกึกก้องจากผู้ชมได้ เมื่อเขาพูดคุยกับผู้ชมเป็นภาษาพม่า

โมริซากิ ยังเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “My country, My home” สร้างโดยเจไอบี และสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมา เนื้อหาเกี่ยวกับนักเรียนหญิงมัธยมปลาย ที่แสวงหาตัวตนของเธอระหว่างเมียนมา กับญี่ปุ่น

ป๊อปคัลเจอร์
วิน โมริซากิ

ช่วงปีที่ผ่านมา โมริซากิมีกลุ่มแฟนๆ ที่เป็นหญิงสาวเมียนมากดติดตามบัญชีเฟซบุ๊กของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแฟนคลับบางรายบอกว่า เขาดูน่ารักเวลาที่พูดภาษาพม่า

ทั้งนี้ การที่เมียนมามีรัฐบาลพลเรือนเข้าปกครองประเทศในปี 2554 ทำให้ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิงต่างประเทศอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หรือออนไลน์

นอกจากป๊อปคัลเจอร์ แบบญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็น “เทรนด์เซ็ตเตอร์” สำหรับแฟชั่น และการแต่งหน้าในกลุ่มคนหนุ่มสาวเมียนมา แบบเดียวกับที่ซีรีส์เกาหลีเคยทำมาแล้ว วัฒนธรรมนี้ ยังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในทางอื่นด้วย เช่น ผลงานของไหว ลา ศิลปินดิจิทัลเมียนมา ที่ใช้นามแฝงว่า บรัช แอทแทค (Brush Attack)

การ์ตูนชุด “Amalon” ของนักเขียนการ์ตูนวัย 27 ปีรายนี้ แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาพของเมืองที่ใช้เดินเรื่อง ตัวละครเด็กนักเรียนหญิงที่เดินทางไปกลับระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริง

ไหว ลา บอกว่า เขาสนใจการ์ตูนญี่ปุ่นมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และเรียนการวาดการ์ตูนด้วยตัวเอง เริ่มจากการวาดเลียนแบบตัวการ์ตูนต่างๆ

ป๊อปคัลเจอร์

ปัจจุบัน เขาเขียนการ์ตูนเผยแพร่ทางออนไลน์ และออกแบบตัวผู้เล่นในเกม ซึ่งบางครั้ง ก็มีการวาดตัวการ์ตูนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ในชุดแต่งกายแบบเมียนมา

ขณะนี้ เขามีสมาชิกในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เขาเป็นผู้ดูแลอยู่มากกว่า 10,000 คน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลงานของเขา และเรื่องอื่นๆ

“การ์ตูนญี่ปุ่น กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในเมียนมา” ไหว ลา ยืนยัน

ที่มา: นิกเคอิ เอเชียน รีวิว

อ่านบทความด้านไลฟ์สไตล์เพิ่มเติมได้ที่ Lifestyle

Avatar photo